พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 224
วันที่ 24 ก.พ. 2567 | 20.01 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 16.53 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชา พุทธศักราช 2567

โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนรุ่ง ทรงรับกระทงดอกไม้ วางบนพานหน้าฐานชุกชี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง แล้วทรงจุดเทียนห่วงบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ และพระพุทธเลิศหล้านภาไลย แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ ที่หน้าธรรมาสน์ศิลา

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศ ที่หน้าธรรมาสน์ศิลา จากนั้น พลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองพระราชพิธี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเทียนชนวน ทรงหยิบเทียนชนวนจุดไฟที่โคมไฟฟ้า ซึ่งเจ้าพนักงานพระราชพิธีถือถวาย แล้วพระราชทานเทียนชนวนที่ทรงจุด ให้รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองพระราชพิธี เชิญไปถวายเจ้าอาวาสพระอารามหลวง จุดเทียนรุ่งที่ทรงพระราชอุทิศพระราชทานไปจุดเป็นพุทธบูชา 5 พระอาราม ประกอบด้วย วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และวัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมื่อพระสงฆ์ 30 รูป เจริญพระพุทธมนต์จบ ทรงโปรยดอกมะลิที่ธรรมาสน์ศิลา ทรงจุดเทียนดูหนังสือเทศน์ พระราชทานเจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญไปตั้งที่ธรรมาสน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม ทรงศีลแล้ว พระเทพวัชรเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ถวายศีล และถวายพระธรรมเทศนา เรื่อง "ขันตยาทิกถา" จบแล้ว ทรงหลั่งทักษิโณทก พระเทพวัชรเมธี ถวายอนุโมทนา แล้วทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมมบูชากัณฑ์เทศน์ แล้วทรงยืนประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม ถวายพระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ พระสงฆ์ถวายอดิเรก

วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยเป็นวันที่พระสงฆ์ 1,250 รูป ซึ่งทั้งหมดเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน, พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6 และเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้ว 9 เดือน ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์" โดยประเทศไทยได้กำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2394 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 และในปี 2549 รัฐบาลได้ประกาศให้วันมาฆบูชาเป็น "วันกตัญญูแห่งชาติ" เพื่อรณรงค์ให้เป็นวันแห่งความรักอันบริสุทธิ์

เวลา 17.59 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายฟาน จี๊ ทัญ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลลา ในโอกาสที่จะพ้นจากหน้าที่ ในโอกาสนี้ นางฟาน ถิ เหี่ยน อัญ ภริยาเอกอัครราชทูตฯ ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย  

เวลา 18.20 น. พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำนายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี คนที่ 19 และขอพรดุอาในนามของพสกนิกรชาวไทยมุสลิม ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 

ในโอกาสนี้ ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

จุฬาราชมนตรี เป็นตำแหน่งผู้นำศาสนาอิสลามที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมมีหน้าที่จัดระบบการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศ ตลอดจนจัดเก็บภาษีอากร ดูแลกิจการศาสนาอิสลามและผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยา และหัวเมืองต่าง ๆ  ต่อมามีการบัญญัติกฎหมาย เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช 2488" และรวมถึง "พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรอิสลาม พุทธศักราช 2540" กำหนดให้มีตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นตำแหน่งผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย ที่มาจากการสรรหาและผ่านการเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีการครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อถึงแก่อนิจกรรม 

สืบเนื่องจาก นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี คนที่ 18 ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 เป็นเหตุให้ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีว่างลง กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พุทธศักราช 2540 มีหน้าที่สรรหาจุฬาราชมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างลง กระทรวงมหาดไทย ได้จัดประชุมกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ 40 จังหวัด เพื่อสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 และที่ประชุมกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ลงคะแนนให้ความเห็นชอบให้ นายอรุณ บุญชม ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายอรุณ บุญชม เป็นจุฬาราชมนตรี คนที่ 19 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567

ข่าวอื่นในหมวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง