สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรนิทรรศการ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมภูมิปัญญาชุมชนไทยภาคเหนือ

View icon 337
วันที่ 9 มี.ค. 2567 | 20.02 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 12.50 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังบริเวณสวน 80 และสวนซากุระ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทอดพระเนตรนิทรรศการ "การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมภูมิปัญญาชุมชนไทยภาคเหนือ" ตามโครงการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาชุมชนไทย ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้นำชุมชน หรือคณะกรรมการกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือกลุ่มอาชีพ ในการนำแนวคิดสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชุมชนไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดสากล และมีองค์ความรู้สามารถเป็นวิทยากรแกนนำในการถ่ายทอดสู่คนอื่นในชุมชนได้ โดยน้อมนำแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" มาส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน

มีผู้ประกอบการ OTOP 20 กลุ่ม และสมาชิกศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ 10 กลุ่ม จาก 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี ที่เข้าร่วมโครงการฯ ไปร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์ เช่น "แต้มตะกอ" กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ มีการต่อยอดผ้าลาวครั่งโบราณ โดยทำเป็นผ้าพันคอใช้เทคนิคการทอผ้ายกมุกสลับเป็นลายตาราง และได้พัฒนาการทอผ้าตามที่มีพระวินิจฉัย ให้ลดเวลาการทอให้น้อยลง เพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น

กลุ่ม Ninechaidee (นายใจดี) มีการตกแต่งกระเป๋าผ้ากัญชงด้วยงานปักมือลวดลายอักษรภาษาล้านนา โดยใช้ผ้ากัญชงเส้นใยธรรมชาติในท้องถิ่นผสมผสานระหว่างอัตลักษณ์งานปักมือ และการออกแบบกระเป๋าประยุกต์ให้ร่วมสมัยใช้ได้ทุกโอกาส

กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าชาวเขา-ปิยาศิลา นำงานเขียนเทียน ภูมิปัญญาชนเผ่าม้ง มาใช้เขียนลายผ้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ โดยพัฒนาผ้าทอจากเส้นใยกัญชงให้มีน้ำหนักเบา นุ่ม และพื้นสัมผัสเรียบ จากเดิมเนื้อผ้ามีความหนาและหยาบ และมีการทอผ้าด้วยเส้นใย 3 กษัตริย์ ประกอบด้วย เส้นฝ้าย เส้นไหม และเส้นใยกัญชง เป็นผ้าที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น ขยายตลาดเพิ่มได้อีก

กลุ่มปักผ้าด้วยมือบ้านสันกอง ปัจจุบันนำผ้าปักด้วยมือมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระเป๋า ผ้าคลุมไหล่ พวงกุญแจ ซึ่งได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญให้ใช้ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน เป็นผ้าพื้นแทนผ้าครอสติช เพื่อให้ดูนิ่ม และสวยงาม และปรับขนาดการปักลวดลายให้เล็กลง เพื่อให้ใช้งานได้หลากหลาย   

คราฟท์ สตูดิโอ (แบรนด์จินจ๋า) ได้รับพระวินิจฉัยด้านลวดลายการปัก ให้เพิ่มองค์ประกอบรวม และได้รับพระราชทานแบบเสื้อทรงกิโมโนต่อยอดจากแบบเดิม

และมีผลิตภัณฑ์ของสมาชิกศิลปาชีพ ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ผ้าเขียนเทียน กลุ่มผ้าเขียนเทียนบ้านห้วยหาน, ผลิตภัณฑ์เซรามิก ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ต๋ำ, ผลิตภัณฑ์จักสานชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่

ทั้งนี้ โปรดให้ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและการย้อมสีธรรมชาติ รวมทั้งดีไซน์เนอร์ชั้นนำของประเทศ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ อาทิ การผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชันที่ร่วมสมัย, การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของตลาด และการสร้างแบรนด์ให้ผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมสู่ตลาดสากล

นอกจากนี้ ยังได้จัดแสดงผ้าไทยลายอัตลักษณ์ เช่น ผ้าลายดอกสารภี ผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดพะเยา, ผ้าลายอุทัยสุพรรณิการ์ ผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดอุทัยธานี

และผลิตภัณฑ์ของกลุ่มหัตถศิลป์ล้านนาวัดศรีสุพรรณ ที่ได้รับการพัฒนาลวดลายเครื่องเงิน โดยนำลายผ้าพระราชทานมาประยุกต์เป็นลวดลายของเครื่องประดับเงิน และได้รับเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชันและหัตถกรรมพระราชทาน "Sustainable Fashion : แฟชันแห่งความยั่งยืน"

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการแสดงฟ้อน "ถิ้งบ้อง" จากวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นการฟ้อนรำ ประกอบวงกลองถิ้งบ้อง โดยมีวิวัฒนาการอยู่ในวัฒนธรรมล้านนา สร้างสรรค์และประดิษฐ์ท่าฟ้อนถิ้งบ้อง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะและมีแบบแผนที่งดงาม ส่วนชุดแต่งกาย นำเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของการแต่งกายล้านนาในปี 2500 มาใช้

ข่าวอื่นในหมวด