ปศุสัตว์บุรีรัมย์เตือนระวังโรคแอนแทรกซ์ ชาวบ้านยังกินลาบดิบ

ปศุสัตว์บุรีรัมย์เตือนระวังโรคแอนแทรกซ์ ชาวบ้านยังกินลาบดิบ

View icon 103
วันที่ 13 มี.ค. 2567 | 10.01 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ปศุสัตว์บุรีรัมย์เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคแอนแทรกซ์ ชาวบ้านยังกินลาบดิบชี้เป็นวิถีคนอีสาน บอกจะระมัดระวังกินเฉพาะในงานบุญ เลือกซื้อเนื้อวัว เนื้อหมูจากเขียงที่มั่นใจ

ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ เตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เฝ้าระวังโรคแอนแทรกซ์ วันนี้ (13 มี.ค.67)  ชาวบ้านในอำเภอลำปลายมาศ  จังหวัดบุรีรัมย์  ที่มีการจัดงานบุญในหมู่บ้าน ก็ยังคงนิยมกินทั้งลาบสุกและดิบ เพราะเป็นวิถีการกินและความชื่นชอบของชาวอีสาน แต่จะระมัดระวังในการเลือกซื้อหาเนื้อวัวหรือเนื้อหมูชำแหละ ที่จะนำมาประกอบอาหารมากขึ้น   โดยจะเลือกซื้อจากเขียงที่สะอาดมีมาตรฐาน

ลุงสมร ชาวอำเภอลำปลายมาศ บอกว่า กินลาบเนื้อและลาบดิบมานานแล้ว ยังไม่มีอาการเจ็บป่วย หรือโรคแทรกซ้อนอะไร แต่หลังจากที่มีข่าวโรคหูดับ หรือโรคแอนแทรกซ์  ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน  ก็รู้สึกกลัวและระมัดระวังการกินเนื้อหรือหมูดิบมากขึ้น ส่วนมากก็จะกินช่วงที่มีงานบุญต่างๆ

ด้านนายสัตวแพทย์อภิชาติ สุวรรณชัยรบ ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า กรมปศุสัตว์ได้แจ้งเตือนการพบโรคแอนแทรกซ์ ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนใน สปป.ลาว โดยมีสาเหตุจากการบริโภคเนื้อโค - กระบือดิบ ตามรายงานข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 7 มี.ค.67 ว่ามีการพบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ 3 คน กรมปศุสัตว์ได้มีการยกระดับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรค โดยสั่งการให้ด่านกักกันสัตว์ตามแนวชายแดนไทย - ลาว เข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าโค กระบือ แพะ แกะ รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และให้เตรียมความพร้อมด้านวัคซีนป้องกันโรค และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ แพะ และแกะให้ดูแล สังเกตสัตว์เลี้ยงของตนเองให้ดี

"จังหวัดบุรีรัมย์หรือในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานการเกิดโรคแอนแทรกซ์มานานแล้ว ซึ่งโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเฉียบพลันที่ชื่อว่าเชื้อ Bacillus anthracis จะมีแผลที่ผิวหนัง แผลที่ทางเดินอาหาร หรือปอด พูดง่าย ๆ คือคนที่เลี้ยงสัตว์ถ้าเกิดเห็นว่าสัตว์เลี้ยงเป็นแผลแล้วไม่มั่นใจ สามารถที่จะไปตรวจโรคได้ว่าสัตว์ที่เลี้ยงหรือป่วยผิดปกติ สำหรับลักษณะบ่งชี้ที่ชัดเจนหากสัตว์เลี้ยงป่วยเป็นโรคนี้ คือจะป่วยมีไข้สูง แต่จะต้องผ่านการตรวจจึงจะยืนยันได้ว่าได้ป่วยเป็นโรคแอนแทรกซ์จริงหรือไม่"

วิธีสังเกตสำหรับอาการของสัตว์ที่ป่วยคือจะไม่ค่อยกินหญ้า ไม่ค่อยเคี้ยวเอื้อง มีน้ำลายปนเลือด หายใจลำบากเนื่องจากเป็นแผลที่ปอด และที่ผิวหนัง ทำให้สัตว์เลี้ยงไม่กินอาหาร บางตัวอาจมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก ซึ่งถ้าเกิดสัตว์เลี้ยงเสียชีวิตส่วนใหญ่แล้ว จะมีเลือดออกทางช่องปาก ทางจมูก ทางรูทวาร หรืออวัยวะเพศ เลือดจะมีกลิ่นเหม็นคาวและไม่แข็งตัว หากสัตว์เลี้ยงตายผิดปกติ ไม่ควรผ่าซากเอง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ให้ทราบโดยด่วน จะได้เข้าไปควบคุม ที่สำคัญคือไม่ควรนำเนื้อสัตว์ไปรับประทานแบบดิบ ๆ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง