สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจด้านงานหัตถศิลป์ ที่จังหวัดบุรีรัมย์

View icon 893
วันที่ 18 มี.ค. 2567 | 20.05 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 13.11 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังที่ว่าการอำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ในงานนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามโครงการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาชุมชนไทย ที่จัดแสดงเรื่องราวอันทรงคุณค่าของผ้าไหมบุรีรัมย์ โดยจำลองห้องรับแขกของบ้านช่างฝีมือหัตถศิลป์จากอำเภอนาโพธิ์ และอำเภอพุทไธสง ที่เป็นความทรงจำสำคัญมาร้อยเรียงเรื่องราวประวัติศาสตร์ไหมในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เริ่มต้นอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2477 จนปัจจุบันเป็นสมาชิกศิลปาชีพ ที่สร้างรายได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ จัดแสดงใบสั่งซื้อเส้นไหมใบแรก จากราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องจากช่างทอผ้า นำผ้าไหมมัดหมี่ลายหนามหมากจับ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ บ้านลำดวน อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งนิทรรศการวงจรเลี้ยงไหมจากชุมชนหัวสะพาน อำเภอพุทไธสง ที่มีวิถีชีวิตเป็นอัตลักษณ์เรื่องการทอผ้าไหม เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีการทอผ้าไหมทุกครัวเรือน ครบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จนทอเป็นผืนผ้า ปัจจุบัน รวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์ฯ เมื่อปี 2553 ภายใต้การสนับสนุนของกรมหม่อนไหม และได้รับการพัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

ส่วนนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมภูมิปัญญาชุมชนไทย จำนวน 30 กลุ่ม รวมทั้งกลุ่มศิลปาชีพ จากจังหวัดบุรีรัมย์ อุดรธานี นครราชสีมา หนองบัวลำภู ยโสธร ขอนแก่น เลย มหาสารคาม สุรินทร์ นครพนม สกลนคร และกาฬสินธุ์ ทุกกลุ่มใช้สีและวัตถุดิบจากธรรมชาติตามแนวพระดำริ "แฟชั่นแห่งความยั่งยืน" หรือ "Sustainable Fashion" ที่พระราชทานแนวทางไว้เมื่อครั้งเสด็จไปทรงเยี่ยมในปีที่ผ่านมา เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน ผลงานทุกชิ้น มีตราสัญลักษณ์ Sustainable Fashion ที่ทรงออกแบบและพระราชทานให้กระทรวงมหาดไทย เชิญไปมอบให้ทุกกลุ่มที่พัฒนาผลงานตามพระดำริ อาทิ ผ้ามัดหมี่ลายโบราณสีธรรมชาติจากเขและโคลนใต้ตมบัว ของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านทุ่งสว่าง อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์, ผ้าเส้นใยว่าน เส้นใยแห่งความมงคล ของกลุ่มแบรนด์ PHEN อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี, ผ้าไหมลายรุ้งแพรวพราววาวแสงย้อมสีธรรมชาติจากครั่ง คราม ทองกวาว และสบู่เลือด ของกลุ่มเย็บผ้าด้วยมือ ศูนย์การเรียนรู้ขวัญตา อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู, ผ้าไหมแต้มหมี่ย้อมสีธรรมชาติ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น, รองเท้าจากผักตบชวา ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ผักตบ นางอนงค์ สายกระสุน อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์, ผ้าฝ้ายรีไซเคิล ของ JUTATIP อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ผ้าฝ้ายที่ย้อมมือ ใช้เส้นใยฝ้ายอินทรีย์

โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ สมาชิกจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ เฝ้า โดยกลุ่มผู้ประกอบการ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวพระดำริ เรื่อง Sustainable Fashion ซึ่งในพระดำริดังกล่าว ยังทรงสอดแทรกแนวคิด เรื่อง Zero Waste หรือการลดปริมาณขยะให้น้อยลงจนกลายเป็นศูนย์ เป็นการส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรให้นำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นการลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นให้เหลือน้อยลง อาทิ กลุ่มผาสาทแก้ว ผ้าทอลายโบราณ จังหวัดมหาสารคาม นำเสนอการใช้ไหมแลง ซึ่งเป็นกระบวนสาวไหมขั้นตอนสุดท้าย นำส่วนที่ติดกับตัวไหมมาพัฒนางาน เมื่อนำมาทอ จะได้เส้นไหมที่ฟูคล้ายขนสัตว์ มีพระวินิจฉัยให้พัฒนาจากสีไหมเดิมเป็นการย้อมสีที่มีความหลากหลายมากขึ้น, กลุ่มห้องเสื้อดีเทล จังหวัดนครราชสีมา นำผ้ามัดหมี่ ที่ลายไม่คมชัด ทำให้ไม่มีคุณค่า นำมาตีเกล็ดและดึงเส้น เพื่อเพิ่มรายละเอียด ส่วนเส้นที่เหลือนำมาต่อยอดจนได้ผ้าอีก 1 ผืน และโปรดให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ นำผ้าไหมเก่า หรือ มีตำหนิมาทดลองทำด้วยวิธีนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดเพิ่มมูลค่า

จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับภาครัฐ และภาคเอกชน ต่อยอดงานนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน ขึ้นเป็นงาน "COLORS OF BURIRAM" ภายใต้แนวคิด "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" เพื่อจัดแสดงองค์ความรู้เส้นทางสายไหมของจังหวัดบุรีรัมย์ จากอดีตที่เชื่อมโยงถึงปัจจุบัน, การสร้างสีสันและลวดลายให้กับผ้า จัดแสดงสีสันของเส้นไหม, มรดกผ้าไหมของบุรีรัมย์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่น, พื้นที่ทรงงาน และกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น สาธิตการเขียนผ้าบาติก, การเขียนทอง, การทอเสื่อกกยกขิด, การย้อมสีธรรมชาติ และงานผ้า ECO ปริ้นต์ ผู้สนใจเข้าชมได้จนถึงวันที่ 21 มีนาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น.

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ชุด "สี่เผ่าไทย บุรีรัมย์น้อมจงรัก" โดยเยาวชนจังหวัดบุรีรัมย์ นำเสนอกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัด ได้แก่ ไทยโคราช, ไทยลาว, ไทยเขมร และไทยส่วย หรือ ไทยกวย ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ที่มีอารยธรรม ผสมผสานผ่านนาฎยลีลาการทำผ้าไหม แสดงให้ถึงกระบวนการทอผ้าไหม ตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จนครบกระบวนการบุรีรัมย์เมืองแห่งผ้าไหม ที่ได้สืบสาน รักษา ต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยนำกันตรึมพื้นบ้าน มาผสมผสานท่ารำ จังหวะสนุกสนาน ทำนองอีสานใต้ รังสรรค์ผ่านกลุ่ม LGBTQ เพื่อแสดงออกถึงความสามารถรอบด้าน และความเท่าเทียมกันในสังคม

จากนั้น เสด็จไปยังมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ บ้านนาโพธิ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (กลุ่มผ้าตุ้มทอง) ทอดพระเนตรนิทรรศการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษฯ กลุ่มบ้านตุ้มทอง โดยในปี 2514 มีการรวมกลุ่มปลูกหม่อน เลี้ยงไหม มีสมาชิกแรกเริ่ม 57 คน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มสตรีทอผ้าไหม และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จากนั้น ได้รับงบประมาณก่อสร้างศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาโพธิ์ขึ้น เพื่อรองรับแผนการพัฒนาอาชีพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน ปัจจุบันภาคเอกชนได้ส่งเสริมการผลิต การอนุรักษ์รูปแบบและลวดลายดั้งเดิมของผ้าไหม ตลอดจนพัฒนารูปแบบลวดลาย เทคนิคการทอ รูปแบบของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าไหม ทำให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะสากล ผลิตเป็นสินค้าคุณภาพจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ สร้างงาน สร้างอาชีพ รวมถึงสร้างความตระหนักถึงคุณค่าแห่งภูมิปัญญาให้แก่คนในท้องถิ่น ด้วยลักษณะของการทอสะท้อนให้เห็นถึงการทอผ้าในกลุ่มคนรุ่นเก่า และรุ่นใหม่ เส้นใยผ้าไหมยังเป็นไหมพื้นบ้าน สาวด้วยมือ ซึ่งยังใช้กระบวนการทำแบบดั้งเดิม ผสมผสานกับการมัดลายสมัยใหม่ แต่มีความลงตัวและสวยงาม กลายเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม ซึ่งในปี 2563 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีพระดำริให้กลุ่มผ้าทอตุ้มทอง กลับมาฟื้นฟูการย้อมไหมด้วยสีธรรมชาติ เพื่อให้มีสีที่สวยงามคงทน และไม่ทำลายธรรมชาติ ทั้งนี้กลุ่มผ้าตุ้มทองได้สร้างกลุ่ม Young OTOP ประเภทผ้า 2 กลุ่ม คือ กลุ่มฟืมไหมบ้านแม่ และกลุ่มทอตะวัน ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย และร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่สังคมไทยสืบไป

ข่าวอื่นในหมวด