สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 188
วันที่ 26 มี.ค. 2567 | 20.05 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 06.54 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงร่วมงานวันครบรอบ 107 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนี้ ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช และสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

จากนั้น ทรงบาตรพระสงฆ์ 10 รูป ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน ณ บริเวณเสาธง หน้าหอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้ที่มาตักบาตรอย่างทั่วถึง

จากนั้น ทรงพระดำเนินไปหน้ามุข หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายกสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้แทนคณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2567

โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสขอบใจที่มาร่วมถวายพระพรในวันนี้ ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพให้ดี

เวลา 09.18 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังโถงกระจก หอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้แทนประชาคมจุฬาฯ ภาคส่วนต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีอุปการคุณ

จากนั้น ทรงพระดำเนินไปหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทอดพระเนตรการแสดงวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ประกอบด้วย การบรรเลงบทเพลงโหมโรงมหาจุฬาลงกรณ์ โดยวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ การขับร้องร่วมกับการจับระบำ เพลงสารถี สามชั้น และระบำอู่ทอง โดยวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรเลงซอด้วง ร่วมกับวงสายใยจามจุรี วงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีเวียดนาม ร่วมกับการแสดงประกอบโดยภาควิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการขับร้องและบรรเลงดนตรีเรื่อง "เวียดนามเย็นใจ" บทพระราชนิพนธ์และการแสดงพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ภายหลังเสร็จสิ้นการแสดง ได้ทอดพระเนตรงานศิลปหัตถกรรมเวียดนาม ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสิ่งของส่วนพระองค์ที่ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มาจัดแสดง อาทิ เครื่องดนตรีเวียดนามประเภทต่าง ๆ เช่น กลองมโหระทึกจำลอง และพิณเวียดนาม, พระมาลาพื้นเมืองเวียดนาม หรือ หนอนหลา, จานไม้งานแล็คเกอร์, แจกันไม้ และกระเป๋าทรง

เวลา 13.06 น. เสด็จพระราชดำเนินไปหอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายดอกไม้ธูปเทียนแพ และกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2567 คณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด พร้อมคู่สมรส เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2567

โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสกับผู้มาเฝ้าทูลละอองพระบาท ความโดยสรุปว่า ปีนี้จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงาน 20 กว่าจังหวัดในช่วง 3 เดือน เพื่อช่วยเหลือให้ราษฎรอยู่ดีกินดี โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ขาดแคลนโปรตีน จึงทรงส่งเสริมให้รับประทานปลา และเลี้ยงปลา เพื่อเป็นรายได้เสริม รวมทั้งพยายามหาแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภคด้วย ซึ่งข้าราชการในพื้นที่ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ต่างมีส่วนสำคัญในการดำเนินการดังกล่าว จึงขอให้ภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือคนที่ยากไร้ ด้อยโอกาส ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เวลา 13.54 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคาร "บรมนาถศรีนครินทร์ คณะทันตแพทยศาสตร์" ในการนี้ ทรงพระสุหร่าย และทรงเจิมแผ่นจารึก อาคารบรมนาถศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตแพทยศาสตร์ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามอาคารฯ โดยเป็นอาคารสูง 19 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 34,000 ตารางเมตร เพื่อให้บริการผู้ป่วยทันตกรรมระดับตติยภูมิ มีศูนย์เชี่ยวชาญการรักษาโรคทางทันตกรรมด้านต่าง ๆ และเพื่อใช้ในการเรียนการสอน ทั้งทางปฏิบัติการ และคลินิกของนิสิตระดับปริญญาบัณฑิต และบัณฑิตศึกษา แบบครบวงจร รองรับการขยายการผลิตบัณฑิตและขยายหลักสูตรให้มีความต่อเนื่อง เพื่อความเป็นเลิศทางทันตแพทยศาสตร์ ในปี 2566 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการจัดอันดับความเป็นเลิศด้านวิชาการ จาก QS World University Rankings by Subject เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย อันดับ 13 ในเอเชีย และอันดับ 70 ของโลก

เวลา 16.03 น. เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ นายทองร่วง เอมโอษฐ ณ เมรุวัดใหญ่สุวรรณาราม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

นายทองร่วง เอมโอษฐ เกิดวันที่ 8 พฤศจิกายน 2486 ที่ตําบลบางกระบือ อําเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรของนายยศ กับนางสําลี เอมโอษฐ หลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดตะโหนดราย (พรหมสวัสดิ์สาทร) บิดามารดาให้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบางใหญ่ อําเภอบางคนที สามารถสอบไล่ได้นักธรรมตรี และได้เรียนรู้งานช่างจากพระอาจารย์เชื้อ จากนั้น ย้ายไปจำพรรษาที่วัดอัมพวันเจติยาราม สามารถสอบไล่ได้นักธรรมเอก และมีโอกาสฝึกเขียนป้าย ลายไทย ภาพสีน้ำมัน และคัดลายมือกับพระมหาเสวก จันทร์แดง โดยติดตามพระมหาเสวก จันทร์แดงที่กลับไปจำพรรษาที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี จนพบกับครูพิณ อินฟ้าแสง นายช่างใหญ่ผู้บุกเบิกวิชาช่างปูนปั้น ได้เรียนรู้งานปั้นจากการเฝ้าสังเกตครูพิณทํางาน ต่อมาจึงลาสิกขาบท และเป็นช่างปั้น ได้รับคำแนะนำ และเริ่มรับงานต่อจากครูพิณตั้งแต่ปี 2504 นายทองร่วง เป็นศิลปินปูนปั้นและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะปูนปั้น มีฝีมือยอดเยี่ยม มีรูปแบบในการปั้นและสูตรเฉพาะตัวในการตําปูน ที่สืบทอดและอนุรักษ์ศิลปะปูนปั้นดั้งเดิม ของช่างเมืองเพชร โดยได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ มีทั้งประเภทความงามด้านประเพณีช่างโบราณ เช่น ช่อฟ้า ใบระกา ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง และประเภทแนวสร้างสรรค์สังคม ปั้นรูปล้อเลียนบุคคลทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย นายทองร่วง ได้รับเชิญจากกรมศิลปากรให้ทำงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพุทธศิลป์ สถาปัตย์และประติมากรรมไทย ในโครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถปูชนียสถาน และอาคารสถานที่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คราวฉลองครบรอบ 200 ปีแห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ที่ผ่านมาได้ใช้ความรู้ ความสามารถถ่ายทอดงานปูนปั้นให้กับคนที่สนใจ สร้างลูกศิษย์ที่มีฝีมือ และชื่อเสียงหลายคน อุทิศตนให้กับสังคม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนรุ่นหลังได้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของไทยต่อไป

นายทองร่วง ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น ประจำปีพุทธศักราช 2554 ด้านชีวิตครอบครัว สมรสครั้งที่ 2 กับนางบุญเรือน เอมโอษฐ มีบุตร รวม 3 คน นายทองร่วง ถึงแก่กรรมเนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและหัวใจวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566 สิริอายุ 80 ปี

ข่าวอื่นในหมวด