สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 145
วันที่ 27 มี.ค. 2567 | 20.05 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 09.38 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นางสายสม วงศาสุลักษณ์ ประธานมูลนิธิร่วมน้ำใจต้านภัยเอดส์ นำนายสเปนเซอร์ เลวิส เอ็ดเวิร์ดส (Mr. Spencer Lewis Edwards) กรรมการบริษัท แอคท์ นาว ชิลเดรนส์ คอนซัลติ้ง จำกัด และ นางนิโคล ลีน วู้ด (Mrs. Nicole Lynn Wood) พร้อมครอบครัว เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน เพื่อพระราชทานเป็นค่าอาหารแก่เด็กนักเรียนโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดลำพูน

พันเอกหญิง นันทพร วีรวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และคณะ นำนายเทนซิน ดอร์จิ (Mr. Tenzin Dorji) ครูโรงเรียนมัธยมตัง (Tang Central School) เมืองบุมทัง (Bumthang) ราชอาณาจักรภูฏาน และนางฟาร์ฮานา เบกุม (Mrs. Farhana Begum) ครูโรงเรียนประถมศึกษาอะแซมปือ (Azampur Government Primary School) กรุงธากา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ผู้ที่ได้รับทุนพระราชทาน หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอนามัยโรงเรียน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลรายงานผลการศึกษา

นายอภิสิทธิ์ พึ่งพร ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นำคณะบุคลากรทางการแพทย์ จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ผ่านการฝึกอบรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับบุคลากรทางการแพทย์จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึง 28 มีนาคม 2567 เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานเกียรติบัตร ในโอกาสนี้ ผู้เกี่ยวข้องในการจัดการฝึกอบรมฯ ร่วมเฝ้าทูลละอองพระบาทด้วย

เวลา 14.26 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการพระพุทธสิหิงค์ แล้วทรงพระดำเนินไปยังพลับพลาพิธีหน้าพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแผ่นทองคําจารึกพระราชสมัญญา "พระอัครราชูปถัมภิกาการจดหมายเหตุไทย" ด้วยสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการจดหมายเหตุไทย แล้วพระราชทานเข็มเกียรติคุณวันอนุรักษ์มรดกไทย แก่ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นและผู้สนับสนุนการดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี 2567

จากนั้น ทรงเปิดนิทรรศการพิเศษ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2567 เรื่อง เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม ที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าเอกสารสำคัญในความดูแลของกรมศิลปากร ซึ่งเป็นฉบับจริง 41 ชุด กว่า 200 รายการ หลายฉบับไม่เคยจัดแสดงมาก่อน ได้แก่ "จารจารึก บันทึกสยาม" แสดงเอกสารโบราณในรูปศิลาจารึก หนังสือ สมุดไทย และเอกสารใบลาน อาทิ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง, พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, คัมภีร์อัลกุรอาน, รามเกียรติ์ บทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 และมหาชาติคำหลวง สะท้อนถึงประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยจนถึงก่อนการปฏิรูปประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
      
"แผนภูมิของแผ่นดิน" แสดงแผนที่โบราณของไทย ในสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ เหรียญที่ระลึกและตราประจำจังหวัด
    
"นิติสารเมื่อเพรงกาล เล่าขานประวัติศาสตร์ไทย" แสดงเอกสารด้านกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาทิ กฎหมายตราสามดวง, สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง และเอกสารเกี่ยวกับการเลิกทาส
    
"เมื่อแรกมีการพิมพ์" แสดงชุดเอกสารกลุ่มแรก ๆ ที่เปลี่ยนมาเป็นการบันทึกด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบตะวันตก เช่น หนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอร์เดอร์, คัมภีร์ครรภ์ทรักษา, ราชกิจจานุเบกษา รัชกาลที่ 4
    
"ต้นร่างสร้างเมือง เรืองรองศิลปกรรม" เอกสารการออกแบบอาคารตามรูปแบบตะวันตก เช่น แบบแปลนวังพญาไท, ยอดพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท, สมุดภาพเครื่องเรือนในพระราชวังดุสิต, แบบก่อสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
    
"ด้วยความทรงจำอันงดงามและความคิดถึง" แสดงสิ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมตะวันตก ที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย เช่น การเขียนจดหมาย การส่งไปรษณียบัตร น้ำหอมต่างประเทศ และซิการ์ อาทิ ไปรษณียบัตรจดหมายเหตุของพระบรมวงศ์ในโอกาสเสด็จประพาสยุโรป, ฉลากน้ำหอม ของสะสมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปลอกซิการ์ ภาพจากซองบุหรี่ และหน้ากลักไม้ขีดไฟ
    
เอกสารต้นฉบับที่นำมาจัดแสดงนี้ เก็บไว้ทั้งในหอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นเอกสารชั้นต้นที่แสดงหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นคลังข้อมูลปฐมภูมิของชาติ และเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การศึกษาและเผยแพร่ให้สาธารณชนได้เรียนรู้

ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ทรงพระอักษรบนไปรษณียบัตรที่ระลึก แล้วทรงหย่อนลงในตู้ไปรษณีย์ ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการพิเศษฯ นี้ได้ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ยกเว้นวันจันทร์ และวันอังคาร จนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้

ข่าวอื่นในหมวด