อุตสาหกรรม Fast Fashion

อุตสาหกรรม Fast Fashion

View icon 126
วันที่ 31 มี.ค. 2567 | 10.00 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด มูลค่าของตลาดฟาสต์แฟชันทั่วโลกมีมูลค่ามากกว่า 106 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามข้อมูลบ่งชี้ว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชันต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนแบ่งการขายเสื้อผ้าตามกระแสรักษ์โลกและความยั่งยืนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในประเทศไทย

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแบบ Fast Fashion เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่โดนโจมตีว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง Fast Fashion มีกระบวนการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอย่างรวดเร็ว ความถี่ในการผลิตไม่ใช่ตามฤดูกาล แต่เปลี่ยนแทบจะทุกสัปดาห์ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม รสนิยมค่อนข้างเปลี่ยนแปลงเร็ว ผู้ผลิตมีการแข่งขันสูง จึงเร่งผลิตเสื้อผ้าราคาถูก มีการออกแบบใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่องและจำนวนมากทั่วโลก รวมทั้งกระบวนการจัดจำหน่ายและการตลาดต้องรวดเร็วตามไปด้วย ข้อมูล Statista คาดว่าภายในปี 2570 มูลค่าตลาดแฟชันฟาสต์แฟชันทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่ารวม 185 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภายใต้อนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ the UN Framework Convention on Climate Change ระบุว่าอุตสาหกรรมแฟชันทั่วโลกมีการปล่อยมลพิษมากถึงร้อยละ 8-10 ซึ่งมีปริมาณมากกว่าอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งรวมกัน ทั้งนี้คาดว่า ยอดขายเสื้อผ้าอาจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 65 ภายในปี 2573

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมแฟชันส่วนใหญ่มาจากการใช้วัตถุดิบ และเสื้อผ้าที่ไม่ใช้งานแล้วถูกทิ้งกลายเป็นขยะในที่สุด

“ปัญหาวัสดุที่ใช้ในการผลิตและกระบวนการผลิตคือโจทย์ใหญ่” อ้างอิงข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่ามีการใช้ฝ้ายจากพื้นที่การเกษตรกว่าร้อยละ 2.5 ทั่วโลก มีการใช้น้ำผลิตใยสังเคราะห์ถึง 342 ล้านบาร์เรลต่อปี และมีการใช้สารเคมีในการย้อมผ้าถึง 43 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ผลจากการวิเคราะห์โดย Business Insider พบว่าการผลิตแฟชั่นประกอบด้วยร้อยละ 10 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกทั้งหมด ซึ่งมากเท่ากับสหภาพยุโรป  มันทำให้แหล่งน้ำแห้งและสร้างมลพิษให้กับแม่น้ำและลำธาร ในขณะที่ร้อยละ 85 ของสิ่งทอทั้งหมดถูกทิ้งขยะในแต่ละปี  แม้แต่การซักเสื้อผ้าก็ปล่อยไมโครไฟเบอร์จำนวน 500,000 ตันลงสู่มหาสมุทรในแต่ละปี ซึ่งเทียบเท่ากับขวดพลาสติก 50 พันล้านขวด

ในปัจจุบันแนวทางการบรรเทาปัญหาด้วยแฟชันแบบหมุนเวียน ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การใช้ซ้ำวัตถุดิบเดิม การนำเอาวัสดุรีไซเคิลมาทำเป็นเสื้อผ้าใหม่ การให้เช่าและขายต่อเสื้อผ้า เหล่านี้นับว่าเป็นอีกทางเลือกของการบริโภค ที่เราสามารถเอาสินค้าเดิมมาหมุนเวียนใช้ซ้ำและแลกเปลี่ยนกันได้ จากการสำรวจทัศนคติของผู้บริโภคในสหรัฐฯ เกี่ยวกับบริโภคสินค้าที่ยั่งยืนจาก World Economic Forum พบว่าผู้บริโภคในทุกช่วงวัยเต็มใจที่จะจ่ายมากขึ้นสำหรับสินค้าที่มีความยั่งยืน

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาส่วนแบ่งการขายเสื้อผ้าตามกระแสรักษ์โลกและความยั่งยืนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย Statista ระบุว่าส่วนแบ่งการตลาดคาดว่าจะสูงถึงกว่าร้อยละ 6 ภายในปี 2569 การเติบโตนี้ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ เช่น คนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z คิดเป็นส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 68 ของรายได้จากเครื่องแต่งกายที่มีกระบวนการผลิตแบบยั่งยืนในสหรัฐอเมริกา แนวโน้มดังกล่าวก็ชัดเจนเพิ่มขึ้นในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ตลาดสินค้าเสื้อผ้ามือสองและการบริการเช่าชุดเริ่มกลับมาเป็นที่ต้องการในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น

อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชันยังคงเป็นเป้าที่มักถูกพาดพิงถึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นแนวทางที่สำคัญที่ต้องช่วยกันผลักดันต่อเนื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง