เกิดอะไรขึ้นกับ ITD

เกิดอะไรขึ้นกับ ITD

View icon 101
วันที่ 30 มี.ค. 2567 | 10.00 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด

หุ้นกู้ 5 รุ่น ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD มูลค่ากว่า 14,455 ล้านบาท ที่มีสัญญาจ่ายอัตราดอกเบี้ยอยู่กว่า 5% ต้องเลื่อนเวลาจ่ายออกไปอีกสองปี เนื่องจากปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจ แม้ว่าบริษัทเองจะมีโครงการก่อสร้างทางคมนาคมของภาครัฐมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท

- โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 92,512 ล้านบาท
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม งานโยธาส่วนตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์) งานเดินรถทั้งระบบ (มีนบุรี-บางขุนนนท์) มูลค่า 140,000 ล้านบาท
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)

สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า–สะพานพุทธ (ร่วมมือกับ บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ) มูลค่า 14,120 ล้านบาท
สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง–ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้าและอาคารจอดแล้วจร มูลค่า 12,238 ล้านบาท
สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ มูลค่า 3,354 ล้านบาท

- โครงการรถไฟสายใหม่ สายเด่นชัยเชียงราย-เชียงของ สัญญา 1 (ช่วงเด่นชัย-งาว) (ร่วมมือกับ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ) มูลค่า 24,822 ล้านบาท
- โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน โดยครอบคลุมเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 1 สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด มูลค่า 10,397 ล้านบาท
- โครงการทางพิเศษพระราม 3 ดาวคะนองวงแหวนตะวันตก (สัญญา 3) ดำเนินการในนามกิจการร่วมค้าไอทีดี-วีซีบี (ร่วมกับ บจก. วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง) มูลค่า 6,877 ล้านบาท
- โครงการทางยกระดับบนทางหลวง หมายเลข 35 ถนนพระราม 2 ตอนที่ 3 มูลค่า 2,328 ล้านบาท
- โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอนที่ 7 มูลค่า 1,746 ล้านบาท

โดยโครงการบางโครงการเป็นโครงการประมูลที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและมีสถานะใกล้แล้วเสร็จ ในขณะที่โครงการขนาดใหญ่หลายโครงการยังเพิ่งเริ่มต้น ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความกังวลเรื่องความล่าช้าของโครงการหลายๆ โครงการ และบริษัทผู้รับเหมาที่รับงานจาก ITD อาจได้รับผลกระทบหากบริษัทไม่สามารถรอกวิกฤตครั้งนี้ไปได้ เพราะอาจจะไม่ได้รับเงินค่าจ้าง

ตลอดช่วงปี 2566 บริษัทเริ่มส่อแววมีปัญหาสภาพคล่อง มีระดับหนี้ที่สูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากโครงการที่ไปลงทุนต่างประเทศ เช่น โครงการทวายที่ลงทุนไปแล้วกว่า 7,000-10,000 ล้านบาท แต่โครงการยังไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ โดยมีหนี้ที่ต้องชำระคืนใน 1 ปีข้างหน้า ถึง 2.64 หมื่นล้านบาท โดยมีหนี้ที่ค้างกับธนาคาร 4 รายใหญ่ รวมถึง 2.32 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ 8 พันล้านบาท (เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน 4 พันล้านบาท) ธนาคารกสิกรไทย 6 พันล้านบาท (เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน 3พันล้านบาท) ธนาคารไทยพาณิชย์ 6 พันล้านบาท (เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกันพันล้านบาท)และธนาคารกรุงไทย 4 พันล้านบาท (เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน 2 พันล้านบาท)

ในขณะที่มีเงินสดและเงินทุนดำเนินการอยู่ 9.6 พันล้าน ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างจากตัวเลขหนี้อยู่ค่อนข้างมาก

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2566 บริษัท ทริสเรทติ้ง ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของ “บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” ( ITD ) จาก “BBB-” เป็น “BB+” และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน จาก “BBB-” เป็น “BB” แนวโน้ม “Negative” สะท้อนสภาพคล่องตึงตัว และภาระหนี้สูงขึ้น

เมื่อเดือน 2567 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขอยืดชำระเงินต้นหุ้นกู้ออกไป 2 ปี พร้อมเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่จะจ่ายให้ผู้ถือหุ้นกู้ ในขณะเดียวกันก็มีแรงงานต่างด้าวเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าจ้างที่ค้างอยู่ แม้ที่ประชุมจะอนุมัติตามที่ขอ นักวิเคราะห์กลับมองว่าเป็นเพียงการซื้อเวลาต่อลมหายใจ

และยังมีข่าวขายทรัพย์สิน ขายโครงการเหมืองแร่โปรแตช เพื่อคลายปัญหาสภาพคล่องของบริษัท

ในที่สุดวันที่ 1 มี.ค. 2567 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย SP หุ้น ITD ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หลังบริษัทเลื่อนส่งงบประจำปี จนถูกจับตามองว่าบริษัทจะอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่

ล่าสุด วันที่ 15 มีนาคม 2567 ทริสเรทติ้ง แจ้งว่าได้ปรับลดอันดับเครดิตขององค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ลงไปอีก เป็นระดับ “BB-” และ “B+” เท่ากับเป็นการปรับลด 2 ระดับภายในเวลาเพียง 3 เดือน

จะเห็นได้ว่า แม้บริษัทจะมีขนาดใหญ่ มีโครงการหลายแสนล้านบาท แต่หากมีระดับหนี้ที่สูงเกินไป มีปัญหาสภาพคล่อง ก็อาจส่งผลให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงตามกำหนด และถูกปรับลดอันดับเครดิต จนอาจส่งผลต่อราคาหุ้นของบริษัทที่ทำการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนหุ้นกู้จึงมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนหุ้นกู้ควรพิจารณาข้อมูลทางการเงินของบริษัทที่ออกหุ้นกู้อย่างระมัดระวังก่อนตัดสินใจซื้อ-ลงทุนหุ้นกู้ อย่าหวังแต่อัตราดอกเบี้ยที่สูงเพียงอย่างเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง