#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บคาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2567 ประเทศไทยจะมีนักเดินทางไมซ์ รวมทั้งสิ้น 23.2 ล้านคน ทำรายได้ 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 9.6 แสนคน รายได้ 6.3 หมื่นล้านบาท และตลาดในประเทศ 22.2 ล้านคน รายได้ 7.3 หมื่นล้านบาท
ทีเส็บตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ ผ่าน “งานเทศกาลนานาชาติ” ทีเส็บได้สนับสนุนงานเทศกาลกว่า 100 งาน สร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจให้ประเทศกว่า 50,000 ล้านบาท ใช้การขับเคลื่อนโดยใช้วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ (Soft Power) มุ่งเน้นการทำตลาดเชิงรุกในต่างประเทศ เน้นสร้างเครือข่ายควบคู่กับการเปิดเวทีรับฟังความท้าทายต่างๆ ในเวทีโลก
“การแสดงสินค้านานาชาติ” จากรายงานของสมาคมการแสดงสินค้าโลก (UFI) พบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน และอันดับ 4 ของเอเชีย ในด้านพื้นที่การจัดงานแสดงสินค้า และในปี 2566 งานแสดงสินค้ายังเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มรายได้และจำนวนนักเดินทางไมซ์ต่างชาติเข้าสู่ไทย ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึงร้อยละ 68 หรือเทียบเท่ากับรายได้ในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสถานการณ์โควิด - 19 ระบาด
“การสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ภายใต้แผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566-2570” คาดว่าจะมีจำนวนนักเดินทางไมซ์รวมกว่า 160 ล้านคน มีรายได้รวมกว่า 9.45 แสนล้านบาท โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ TCEB Go สรุปได้ดังนี้
“Thailand As Global MICE Leader” มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมไมซ์ระดับโลกเพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่กับการสร้างพันธมิตรและสร้างโอกาสทางธุรกิจ ด้วยการดึงงานระดับนานาชาติเข้ามาจัดในประเทศไทยอย่างงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี พ.ศ. 2569 รวมถึงการประมูลสิทธิ์ดึงงานภายใต้โครงการ One Ministry, One Convention ซึ่งเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าภาพ มีความร่วมมือกับกระทรวงการคลังจะจัดงาน Annual Meetings of the International Monetary Fund และ งาน World Bank Group 2026 เป็นต้น
“Create Destination Competitiveness Through Diverse Local Identity” ยกระดับศักยภาพการรองรับกิจกรรมไมซ์ในแต่ละพื้นที่ ด้วยการสร้างความหลากหลายของอัตลักษณ์ในพื้นที่และประสบการณ์ที่มีคุณค่า ผ่านการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือกับชุมชน ตลอดจนเครือข่ายในท้องถิ่น มีการพัฒนาเส้นทางสายไมซ์ในแต่ละจังหวัด การพัฒนา Product MICE Premium และการทำการตลาดเชิงพื้นที่เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ของเมือง รวมถึงการผลักดันงานเทศกาลสำคัญประจำท้องถิ่นให้เป็นงานเด่นระดับประเทศและระดับนานาชาติ
“Execute Innovative MICE Solution” การส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและนวัตกรรมด้านการบริการไมซ์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไมซ์ไทยบนเวทีโลก โดยมุ่งพัฒนาศูนย์กลางข้อมูลระดับประเทศ MICE Intelligence Center การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล Thailand MICE One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ไมซ์ เป็นต้น
“Build Agile and High Performance Organization” มุ่งสู่การเป็นองค์การสมรรถนะสูงที่คล่องตัวและทันโลกโดยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์การด้วยกลยุทธ์ AAA
“Go for MICE Sustainability” ผลักดันให้จุดหมายปลายทางไมซ์ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืนในระดับนานาชาติ Global Destination Sustainability Index และผลักดันให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานไมซ์ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 20121 การจัดการและบริหารธุรกิจอีเวนต์อย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาระบบคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการสนับสนุนการจัดงานแบบคาร์บอนเป็นกลาง พร้อมทั้งผลักดันให้ผู้จัดงานและผู้ประกอบการไมซ์ผ่านการรับรองการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืน (Thailand Sustainable Event Management Standard: TSEMS เพิ่มเติมอีก 450 องค์กรทั่วประเทศ เป็นต้น
“ปัจจัยที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยและประเทศในอาเซียน” การเดินทางท่องเที่ยวเชิงธุรกิจภายในอาเซียนซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรจำนวนมากถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีการพัฒนาเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งระหว่างกัน และความสะดวกในเรื่องการเดินทาง ดังนั้นนักเดินทางในอาเซียนกลายเป็นกลุ่มที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในกลุ่มนักเดินทางเข้าสู่อาเซียนทั้งหมด แนวโน้มกลุ่มเดินทางซ้ำมีเพิ่มขึ้น มีการพัฒนาความร่วมมือกันระหว่างคู่ค้าในอาเซียนด้วยการเพิ่มการคงไว้ของการจัดงานและผู้เข้าชมงานในภูมิภาค รวมทั้งเพิ่มวันพักค้าง เพิ่มธุรกิจจากการหมุนเวียนจัดงานในภูมิภาคและการกระจายจากเมืองหลัก
การวางยุทธศาสตร์ TCEB Go เป็นกรอบแนวทางที่สำคัญที่จูงใจให้นักเดินทางอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศสนใจเข้าร่วม ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการจัดงานระดับนานาชาติ อุตสาหกรรมไมซ์เป็นอีกหนึ่งความหวังที่สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง