จนท.ปลอดภัยทั้ง 3 นาย หลังหมดสติขณะดับไฟป่า

จนท.ปลอดภัยทั้ง 3 นาย หลังหมดสติขณะดับไฟป่า

View icon 72
วันที่ 23 เม.ย. 2567 | 09.54 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ หมดสติขณะดับไฟป่า เพราะอากาศที่ร้อนทะลุ 42 องศา จนเกิดฮีตสโตรก หัวใจหยุดเต้น 1 นาย ต้อง CPR ก่อนหามลงเขาสูงชัน ล่าสุดอาการปลอดภัยแล้ว

วันนี้ ( 23 เม.ย.67) หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ,เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าปราจีนบุรี และอีกหลายหน่วยงาน เร่งเข้าไปช่วยกันดับไฟป่า บริเวณสวนป่าเขาไผ่ – เขาพลู ท้องที่บ้านวังใหม่ ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี จำนวน 3 คน เกิดอาการฮีตสโตรก ขั้นรุนแรง จนหมดสติขณะปฏิบัติงานดับไฟป่า จึงได้ปฐมพยาบาลขั้นต้น ประกอบกับทำ CPR ยื้อชีวิต นานกว่า 3 นาที จึงฟื้นคืนกลับมา ประกอบด้วย 1. นายวิสุทธิ์ แหวนเพ็ชร อายุ 44 ปี เจ้าหน้าที่สวนป่าเขาไผ่ 2. นายวีระชาติ แก้วบุดดี อายุ 38 ปี  พนักงานพิทักษ์ป่า ประจำอุทยานแห่งชาติทับลาน และ นายสิทธิชัย ดอกมาลี อายุ 38 ปี  พนักงานพิทักษ์ป่า ประจำสถานีควบคุมไฟป่าปราจีนบุรี

ล่าสุด นายสิทธิชัยฯ ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังต้องพักอยู่ที่โรงพยาบาลนาดีเพื่อสังเกตอาการโดยละเอียดอย่างน้อยเป็นเวลา 1 คืน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อร่างกายย้อนหลัง  ส่วนผู้ป่วยเล็กน้อยรายอื่นได้กำชับให้คอยเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป

นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า ก่อนเกิดเหตุ คณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 20 นาย เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าปราจีนบุรี 6 นาย เจ้าหน้าที่ฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่า (วังมืด) จำนวน 5 นาย เจ้าหน้าที่สวนป่าเขาไผ่ จำนวน 5 นาย รวม 36 นาย ได้บูรณาการเข้าพื้นที่ เพื่อดับไฟป่า ตั้งแต่ช่วงเวลา 08.00 น. วานนี้ (22 เมษายน 2567) แต่ด้วยสภาพพื้นที่มีความลาดชันสูง มีกอไผ่ตายขุยจำนวนมาก ส่งผลให้ในพื้นที่ซึ่งเป็นหุบเขา ถูกปกคลุมไปด้วยควันไฟ ประกอบสภาพอากาศที่ร้อนจัด มีอุณหภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ เกิดอาการฮีตสโตรก จำนวน 3 ราย 

โดยสาเหตุไฟไหม้ป่าบริเวณสวนป่าเขาไผ่ - เขาพลูหีบ คาดว่า เกิดจากคนเข้าไปจุดไฟเพื่อตีรังผึ้ง เนื่องจากมีการตรวจพบอุปกรณ์การตีผึ้งและรวงผึ้งตกอยู่ในจุดต้นเพลิง หลังจากนี้ อุทยานแห่งชาติทับลานจะได้ทำการปรับแผนการปฏิบัติภารกิจ โดยจะปรับช่วงเวลาปฏิบัติงานเป็นเวลากลางคืน แต่ต้องเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ เนื่องจากการใช้เส้นทางเดิมมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสัตว์ป่า โดยเฉพาะกระทิง  จึงเน้นเรื่องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่มาก่อน