พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

View icon 5.0K
วันที่ 10 พ.ค. 2567 | 10.42 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ การเสี่ยงทายพระโคกินเลี้ยงปีนี้ พระโคกินน้ำ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอควรพร้อมด้วยธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร กินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง

10 พฤษภาคม 2567 พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2567 ทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร เริ่มฤดูกาลเพาะปลูก มอบความเชื่อมั่นสู่เกษตรกรไทย

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร กำหนดจัดขึ้น ในราวเดือนหกของทุกปี หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย

การจัดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ ฤกษ์การไถหว่านอยู่ระหว่างช่วงเวลา 08.09–08.39 น. ผู้ทำหน้าที่เป็นพระยาแรกนา ประจำปี 2567 คือ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร และนางสาววราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กรมวิชาการเกษตร ผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย คู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา จำนวน 16 ราย และพระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง

พระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 226 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 12 ปี
พระโคเพียง มีความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 239 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 210 เซนติเมตร อายุ 12 ปี
พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล ซึ่งเป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน

ในปีนี้ กรมการข้าวทำหน้าที่ในการจัดเตรียมพันธุ์ข้าวพระราชทานและพันธุ์พืช ซึ่งนำมาใช้ในงานพระราชพิธีฯ โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำพันธุ์ข้าวทรงปลูกในฤดูนาปี 2566 โครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดามาใช้ในงานพระราชพิธีฯ ประจำปี 2567 ประกอบด้วย ข้าวนาสวน จำนวน 6 พันธุ์  ได้แก่ ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 903 กิโลกรัม, กข 43 จำนวน 300 กิโลกรัม, กข 81 จำนวน 200 กิโลกรัม, กข 85 จำนวน 200 กิโลกรัม, กข 87 จำนวน 300 กิโลกรัม และ กข 95 จำนวน 200 กิโลกรัม และพันธุ์ข้าวเหนียว จำนวน 2 พันธุ์ ได้แก่ กข 6 จำนวน 540 กิโลกรัม และสันป่าตอง 1 จำนวน 100 กิโลกรัม โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธีมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,743 กิโลกรัม และจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุในซองพลาสติกแจกจ่ายให้บรรดาพสกนิกร ประชาชนผู้สนใจ และชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตร

ในวันประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จะมีการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ พระยาแรกนา ได้ตั้งสัตยาธิษฐาน เสี่ยงทายหยิบผ้านุ่งแต่งกาย ซึ่งแต่ละผืนล้วนมีความหมายแตกต่างกันออกไป เป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน ได้แก่ หากหยิบได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ หยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี หยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่ม จะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน สำหรับการอุปโภคและบริโภคอย่างเหมาะสม เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งที่อาจเกิดขึ้น  

ในการนี้ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ถวายรายงานการพยากรณ์เสี่ยงทายผ้านุ่งของพระยาแรกนา และพระโคกินเลี้ยง นอกจากนี้ พราหมณ์จะเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโค เมื่อพระโคกินของสิ่งใด โหรหลวงจะได้ถวาย คำพยากรณ์ คือ หากพระโคกิน ข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี พระโคกิน ถั่วเขียวหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี พระโคกิน น้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และหากพระโคกิน เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคล เป็น “วันเกษตรกร” ประจำปีด้วย เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคล เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา

663d99f610c159.41091289.png

663d99f6f378e8.21146178.png

663d99f7e57f26.06908649.png

663d99fa0cbe12.16949311.png

ข่าวที่เกี่ยวข้อง