เขียน TOR แบบเรียนฯ ปี 67 ขัด กม. หรือไม่

เขียน TOR แบบเรียนฯ ปี 67 ขัด กม. หรือไม่

View icon 124
วันที่ 27 พ.ค. 2567 | 11.05 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“เรืองไกร” ร้องนายกฯ สอบ องค์การค้า สกสค. เขียน TOR แบบเรียนฯ ปี 67 ขัด กม. หรือไม่

วันนี้ (27 พ.ค. 67) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กล่าวว่า ตนในฐานะ กมธ.งปม. 67 เคยสงวนความเห็นขอปรับลดงบกระทรวงศึกษาธิการ 2 ล้านบาท ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากองค์การค้า ของ สกสค. มีการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ขัดต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 40 พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 67

ต่อมาวันที่ 26 พ.ค. 67 เว็บไซต์สำนักข่าวอิศราได้ลงข่าวหัวข้อ กีดกันเสนอราคา! “คกก.อุทธรณ์ฯ ชี้ องค์การค้า สกสค.เขียน TOR แบบเรียนฯ ปี 67 ขัดกม.

นายเรืองไกร ระบุ กล่าวว่า ข้อความของหนังสือที่ กค (กอร) 0405.5/18222 วันที่ 24 พ.ค. 67 ตอนท้ายข้อความระบุไว้ดังนี้

“อย่างไรก็ตาม การที่ สกสค. โดยองค์การค้าของ สกสค. กำหนดเงื่อนไขใน TOR ข้อ 8.1 กำหนดว่า “การยื่นข้อเสนอ ผู้ยื่นต้องยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มตามประเภทของหนังสือแบบเรียนการจัดพิมพ์ จำนวน 30 กลุ่ม ตามข้อ 17” ข้อ 8.2 กำหนดว่า “การยื่นเสนอราคา ผู้ยื่นเสนอจะยื่นได้จำนวน 1 รายการ ของแต่ละกลุ่มตามที่กำหนดในข้อ 8.1 และขอบเขตของงานรายละเอียดและคุณลักษณะ (TOR) โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น” และข้อ 16.2 กำหนดว่า “ผู้ว่าจ้างจะพิจารณาราคาต่อรายการ” ซึ่งโครงการนี้เป็นการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว จึงเป็นการกีดกันการเสนอราคา ทำให้ไม่สามารถยื่นเสนอราคาได้ทั้ง 151 รายการ หรือได้ตามศักยภาพและตามความประสงค์ของผู้ยื่นข้อเสนอ จึงขัดกับหลักการตามนัยมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560”

นายเรืองไกร กล่าวว่า นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้ให้สัมภาษณ์ มีเนื้อหา เช่น

“ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กรมบัญชีกลาง ได้ส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาข้อร้องเรียนของ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด มายัง องค์การค้า สกสค. แล้ว”

“หากกรมบัญชีกลาง ส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาข้อร้องเรียนของ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด กรณีการเปิดประมูลแบบเรียนฯ ปีการศึกษา 2567 มายัง องค์การค้า สกสค. แล้ว องค์การค้า สกสค. ก็จะทำหนังสือชี้แจงรายละเอียดและเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องประมูลแบบเรียนฯด้วยวิธีการดังกล่าว ให้ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ กรมบัญชีกลาง รับทราบอีกครั้ง”

นายเรืองไกร ระบุ คำสัมภาษณ์ดังกล่าวที่ อาจไม่สอดรับกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่องค์การค้าของ สกสค. ชี้แจงแล้ว ซึ่งในหนังสือที่ กค (กอร) 0405.5/18222 วันที่ 24 พ.ค. 2567 ในวรรคสอง ระบุไว้ส่วนหนึ่งดังนี้

“คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์) ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของผู้ร้องเรียน และตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่องค์การค้าของ สกสค. ชี้แจงแล้ว เห็นว่า ...”

ดังนั้น จึงน่าเชื่อว่า องค์การค้าของ สกสค. ควรทราบเรื่องที่ถูกร้องเรียนดังกล่าว เพราะมีการชี้แจงมาก่อนแล้ว ดังนั้น โดยผลของหนังสือที่ กค (กอร) 0405.5/18222 ดังกล่าวจึงมีเหตุที่ต้องแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบและสั่งการให้มีการตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดที่เกี่ยวข้องกับการประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปี 2567 ขององค์การค้าของ สกสค. โดยไม่ชอบ หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า จากข้อความที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ระบุไว้ในตอนท้ายของหนังสือที่ กค (กอร) 0405.5/18222 วันที่ 24 พ.ค. 2567 ว่า “การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว จึงเป็นการกีดกันการเสนอราคา ทำให้ไม่สามารถยื่นเสนอราคาได้ทั้ง 151 รายการ หรือได้ตามศักยภาพและตามความประสงค์ของผู้ยื่นข้อเสนอ จึงขัดกับหลักการตามนัยมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560” จึงเป็นพยานหลักฐานของส่วนราชการที่นายกรัฐมนตรีควรรีบสั่งการให้มีการตรวจสอบต่อไปโดยเร็ว

ดังนั้นจึงส่งหนังสือ ถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดที่เกี่ยวข้องกับการประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปี 67 ขององค์การค้าของ สกสค. โดยขัดกับหลักการตามนัยมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560  หรือไม่