เรืองไกร ร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ หรือไม่

เรืองไกร ร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ หรือไม่

View icon 98
วันที่ 19 มิ.ย. 2567 | 14.42 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เรืองไกร ร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ หรือไม่  เหตุ “ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สิน หรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย”

วันนี้ (19 มิ.ย. 67) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า จากการติดตามข่าวต่างๆที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มาโดยตลอด ทำให้เกิดประเด็นอันควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า นางสาวแพทองธาร ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 หรือไม่ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ข้อ 1. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สั่ง ณ วันที่ 13 กันยายน 2566 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (6) นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ประกอบด้วยบุคคลต่าง ๆ รวม 29 ตำแหน่ง ซึ่งมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธาน อยู่ด้วย รายละเอียดปรากฏตามคำสั่งดังกล่าว

ข้อ 2. ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2566 ข้อ 2 ระบุว่า ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจด้วย และข้อ 4 ระบุว่า การเบิกจ่ายเบี้ยประชุมหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือที่ปรึกษาตามที่แต่งตั้งตามคำสั่งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)

ข้อ 3. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 (บางส่วน) บัญญัติไว้ว่า
             “มาตรา 4 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
             “เจ้าพนักงานของรัฐ” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.
             “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือ เงินเดือนประจำ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐหรือในรัฐวิสาหกิจผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานตามกฎหมาย ว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ หรือเจ้าพนักงานอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และให้หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และบุคคลหรือคณะบุคคล บรรดาซึ่งมีกฎหมายกําหนดให้ใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐด้วย แต่ไม่รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.”

ข้อ 4. โดยผลของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2566 ดังกล่าว จึงมีเหตุอันควรตรวจสอบว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ควรถือเป็น กรรมการ ที่มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเจ้าพนักงานของรัฐ ตามความในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 หรือไม่

ข้อ 5. นับตั้งแต่วันที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มาจนถึงปัจจุบัน นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร ได้มีการเบิกเบี้ยประชุมหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ จากงบประมาณของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด และเฉพาะเงินที่รับมาในปี 2566 ได้นำไปถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร หรือไม่

ข้อ 6. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร จะถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 หรือไม่

อย่างไรก็ตาม สำหรับกฎหมาย ป.ป.ช.  มาตรา 103 ระบุ

“ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สิน หรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการป.ป.ช. กำหนดบทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของผู้ที่พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปีด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 103/1 บรรดาความผิดที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ให้ถือเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง