สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 422
วันที่ 27 พ.ค. 2567 | 20.05 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 07.49 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารกรุงเทพประกันภัย ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์กรุงเทพประกันภัย โอกาสนี้ ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

จากนั้น ทอดพระเนตรวีดิทัศน์เรื่อง "กำเนิดพระพุทธรูปของโลกและการเผยแผ่พระพุทธศาสนามายังประเทศไทย" ให้ความรู้เรื่องโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูปอินเดีย และหินแกะสลักศิลปะแบบคันธาระ แล้วทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีมากกว่า 1,000 ชิ้น เป็นโบราณวัตถุในยุคสมัยต่าง ๆ อาทิ เครื่องปั้นดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคล้านนา และยุคสุโขทัย, เครื่องประดับ, เครื่องใช้ยุคสำริด, ประติมากรรมหินแกะสลัก และลูกชั่ง

บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) สร้างพิพิธภัณฑ์กรุงเทพประกันภัย ขึ้นเมื่อปี 2548 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปะวัฒนธรรม เกี่ยวกับโบราณวัตถุของประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2549 ปัจจุบัน มีโบราณวัตถุเพิ่มขึ้น คิดต่อยอดฉายวีดิทัศน์ให้ความรู้ และทำโมบายแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ รองรับทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อค้นคว้าหาความรู้ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ที่ผ่านมามีนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจ เข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของโบราณวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้

เวลา 13.15 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดน่าน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดน่าน (หลังใหม่) เนื่องจากสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดน่าน (หลังเก่า) เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2504 และได้ย้ายสำนักงานเรื่อยมา จนปี 2559 ได้มาใช้อาคารของราชพัสดุ เป็นที่ทำการถาวร บนเนื้อที่ 2 งานเศษ มีการใช้งานมานานจนสภาพอาคารทรุดโทรม ต่อมา นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) มีความประสงค์จะจัดสร้างอาคารสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดน่าน (หลังใหม่) เพื่อมอบให้แก่เหล่ากาชาดจังหวัดน่าน ทดแทนอาคารหลังเดิม โดยเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2567 ระยะเวลาการดำเนินการ 12 เดือน เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่าง เป็นห้องปฏิบัติงานผู้บริหาร ห้องคลังพัสดุ ห้องอเนกประสงค์ ห้องถ่ายเอกสาร และห้องสำนักงานสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน, ชั้นที่ 2 เป็นห้องรับรอง ห้องประชุม ห้องศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฝึกอบรม พร้อมครุภัณฑ์และเครื่องมือต่าง ๆ เมื่อแล้วเสร็จ จะเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ ที่มีความพร้อมในการช่วยเหลือดูแลผู้ประสบภัย เช่น ที่พักพิงชั่วคราว คลังเก็บสิ่งของที่สามารถนำออกไปช่วยเหลือในเบื้องต้นได้ทันที เป็นศูนย์สนับสนุนชมรมอาสายุวกาชาดในพื้นที่จังหวัดน่าน และเป็นศูนย์ฝึกอบรมจิตอาสาสภากาชาดไทยในหลักสูตรต่าง ๆ

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการประวัติเหล่ากาชาดจังหวัดน่าน และพันธกิจในการดำเนินงาน อาทิ การบริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย ทั้งนี้ กาชาดจังหวัดน่าน ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้แสดงความจำนง บริจาคดวงตาและอวัยวะ ในปี 2565-2567 มีผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตา 239 ราย อวัยวะ 208 ราย, พันธกิจด้านการบรรเทาทุกข์ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย ภัยแล้ง และภัยหนาว ในพื้นที่จังหวัดน่าน ช่วงปี 2565-2567 ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ จำนวน 19,650 ราย, พันธกิจด้านการบริการโลหิต ร่วมกับโรงพยาบาลน่าน จัดหาโลหิตให้มีปริมาณเพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณภาพ ช่วงปี 2565-2566 ออกหน่วยรับบริจาคโลหิต 288 ครั้ง ได้โลหิต 50,314 ยูนิต, และพันธกิจด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ให้การพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เด็ก และเยาวชนที่ด้อยโอกาส รวมถึงพระภิกษุ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และโครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย ในพื้นที่จังหวัดน่าน ที่เริ่มดำเนินการในปี 2563 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ 28 แห่ง นักเรียนกลุ่มเป้าหมาย 635 คน ผลการประเมิน สามารถพัฒนาการอ่าน เขียนภาษาไทย ดีขึ้นถึงร้อยละ 79

เวลา 13.22 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระธาตุแช่แห้ง อำเภอภูเพียง ทรงวางพวงมาลัย และทรงจุดเครื่องราชสักการะต้นดอก หรือเครื่องสักการะของล้านนา สักการะพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน พระธาตุประจำผู้เกิดปีเถาะ หรือกระต่าย ในทุกปีจะมีการจัดงาน "ประเพณีหกเป็งนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง"

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดการเสวนาการเกษตรนานาชาติ ครั้งที่ 1 (The 1st INTERNATIONAL AGRICULTURAL FORUM) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2567 โดยมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติฯ, Chinese Academy of Sciences Innovation Cooperation Center (Bangkok) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา, สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน), สมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจและความร่วมมือการค้าอาเซียน-จีน, สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), มูลนิธิกสิกรไทย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในการนี้ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้บรรยายในหัวข้อ "ความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ในการสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการรักษ์ป่าน่าน"

นายเจียง เปียว น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเครื่องจักรการผลิตยาจากพืช ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือในการสนับสนุนโครงการรักษ์ป่าน่าน อันเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่คุณค่าการผลิตยาจากพืช ที่จะนำไปสู่การคืนป่าต้นน้ำของจังหวัดน่านสืบไป 

ในการนี้ มีพระราชดำรัสชื่นชมทุกภาคส่วนที่ร่วมแรงร่วมใจ ระดมกำลังความคิด และความร่วมมือ เพื่อแก้ปัญหาการสูญเสียป่าต้นน้ำน่าน และหาทางให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบถึงกัน การร่วมมือกันในระดับนานาชาติเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยใช้จังหวัดน่านเป็นต้นแบบ

การเสวนาการเกษตรนานาชาติ ครั้งที่ 1 นี้ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 600 คน จากกว่า 10 ประเทศ ครอบคลุมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรวิชาการและการวิจัย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการเกษตร มาใช้ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจน และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การฟื้นคืนป่าต้นน้ำอันมีค่าของประเทศ และของโลก ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความมุ่งมั่นในการพัฒนาความก้าวหน้าทางเกษตรกรรมของประเทศไทย ผ่านนวัตกรรม และการวางรากฐานสำหรับอนาคต ที่มุ่งหวังว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านที่ตั้งของภาคเหนือในเชิงยุทธศาสตร์ในการเป็น "ประตูของระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้" ให้เกิดความร่วมมือของอนุภูมิภาค ในการเข้าถึงตลาดใหม่สำหรับความร่วมมือทางการเกษตร และยกระดับการเกษตรอย่างยั่งยืน

ในงานฯ ยังจัดแสดงนิทรรศการ Neo District นิทรรศการแสดงงานวิจัยและนวัตกรรมที่ยกระดับผลผลิตทางการเกษตรไทยและจีน ส่วนแรกประกอบด้วย การแสดงนวัตกรรมทางการเกษตรสมทบจากทั้งภาครัฐภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากสารสกัดจากพืชยา, เทคโนโลยีทางการเกษตร และเทคโนโลยีเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร, ส่วนที่ 2 เป็นการแสดงสินค้าท้องถิ่นจังหวัดน่าน เช่น ไอศกรีมจากมะไฟจีนและผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ, ผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าจากมะแขว่น เช่น ซอสและน้ำพริกมะแขว่น และผลิตภัณฑ์กาแฟท้องถิ่นของจังหวัดน่าน นอกจากนี้ มีพิธีลงนามความร่วมมือปฏิญญาน่าน ซึ่งเป็นครั้งแรกของจังหวัดน่าน ที่มีการลงนามระหว่างหน่วยงานพันธมิตรจากประเทศไทย และจีน รวม 12 องค์กร ในการร่วมกันพัฒนาและยกระดับผลผลิตทางการเกษตรของน่านเพื่อคืนป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน, การบรรยายและเสวนาร่วม 13 หัวข้อ ภายใต้แนวคิด การพัฒนาระดับภูมิภาคในยุคใหม่ที่ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ และการเกษตรที่ยั่งยืน