อาหารเสริมมรณะ ไซบูทรามีนกลับมาอีกแล้ว ขายเกลื่อนออนไลน์

อาหารเสริมมรณะ ไซบูทรามีนกลับมาอีกแล้ว ขายเกลื่อนออนไลน์

View icon 426
วันที่ 30 พ.ค. 2567 | 15.17 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ปคบ.ร่วม อย. ตรวจค้น 5 จุด ทั่วประเทศ ยึดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมผสมไซบูทรามีน หลังกลับมาระบาดอีกครั้ง เปิดขายเกลื่อนแพลตฟอร์มออนไลน์

อาหารเสริมมรณะ วันนี้(30 พ.ค.2567) ผู้สื่อข่าวมีรายงานว่า ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ร่วมปฏิบัติการ ระดมกวาดล้างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน 7 ยี่ห้อ ตรวจค้น 5 จุด ตรวจยึดของกลาง จำนวน 21 รายการ มูลค่ากว่า 450,000 บาท

สืบเนื่องจากปัจจุบันประชาชนหันมาดูแลสุขภาพ รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการจำหน่ายอย่างแพร่หลาย อาจเป็นช่องว่างให้ผู้ผลิตลักลอบผสมวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1(ไซบูทรามีน) ไปในผลิตภัณฑ์ ซึ่งเมื่อรับประทานแล้ว อาจทำให้ปวดหัว ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด และเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ในกรณีผู้มีโรคประจำตัวอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีการเฝ้าระวังกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยตลอด
ต่อมาตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและได้รับเรื่องร้องเรียนจาก อย. ให้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับลดน้ำหนักบนแพลตฟอร์มออนไลน์ จึงเป็นที่มาของปฏิบัติการกวาดล้างเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักผสมไซบูทรามีน จำนวน 7 ยี่ห้อ ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร จ.พิษณุโลก จ.นครสวรรค์ และ จ.นครปฐม รวม 5 จุดตรวจค้น

1. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ ซีไอเอส(CIS) โดยเจ้าหน้าที่ร่วมกันตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยี่ห้อ CIS DIETARY SUPPLEMENT PRODUCT ผ่านแพลตฟอร์ม Shopee โฆษณาขายโดยอ้างว่ามีเลขสารบบอาหารถูกต้อง แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีเลขสารบบอาหารระบุอยู่บนฉลากบรรจุภัณฑ์แต่อย่างใด เมื่อส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1  (ไซบูทรามีน) ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว กระทั่งวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 เจ้าหน้าที่นำหมายค้นของศาลเข้าตรวจค้น ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ จ.นครสวรรค์ จำนวน 2 จุดคือ สถานที่ผลิต ในพื้นที่ ต.ดอนทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ผลการตรวจสุขลักษณะสถานที่ผลิตอาหาร พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ GMP ตามที่กฎหมายกำหนด และผู้จัดจำหน่าย ในพื้นที่ ต.วัดไทร อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยี่ห้อ CIS ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน และมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 3,720 แคปซูล รวมทั้งกล่องบรรจุภัณฑ์สำหรับแพ็คส่งสินค้า จำนวนหนึ่ง รวมของกลางทั้งสิ้น 4 รายการ มูลค่ากว่า 50,000 บาท และพบ น.ส.เจนขวัญ (สงวนนามสกุลจริง) อายุ 25 ปี เป็นผู้นำตรวจค้น โดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึด และเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจริง โดยจำหน่ายเดือนละ 100 - 200 กระปุก มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ประมาณเดือนละ 30,000 บาท โดยทำมาแล้วเป็นเวลาประมาณ 2 ปี

2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ New Slim หลังตรวจสอบพบโฆษณาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ แอปพลิเคชัน ติ๊กต๊อก (Tiktok) โดยในวันที่ 23 เมษายน 2567 ได้นำหมายค้นของศาลแขวงนครปฐม เข้าทำการตรวจค้น สถานที่จัดเก็บจำหน่ายและส่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ต.หนองปากโลง อ.เมือง จ.นครปฐม ผลการตรวจค้นพบ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก, ซองซิปล็อกเปล่าสีชมพู, กระปุกเปล่าสีเขียว และสติกเกอร์ ระบุข้อความ New Slim ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่าใช้สำหรับการแบ่งบรรจุเพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบถามเจ้าของผลิตภัณฑ์ทราบว่า ตนได้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากช่องทาง (Shopee) ชื่อร้าน “ไอซ์ 168” แล้วนำมาแบ่งบรรจุใส่ซองซิป จำหน่ายผ่านช่อง Tiktok ของตนเอง จึงขยายผลตรวจสอบจนทราบว่า ร้าน “ไอซ์ 168” ดังกล่าวมีสถานที่จัดเก็บ และกระจายสินค้าให้แก่ลูกค้า อยู่ในพื้นที่ แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ต่อมาในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอหมายค้นต่อศาลแขวงธนบุรี เข้าตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จำนวน 2 จุดคือ สถานที่จัดเก็บ ถนนพระราม 2 แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 9 รายการ รวม 984 ชิ้น , ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำนวน 1 รายการ รวม 460 ชิ้น และ สถานที่จัดเก็บและจำหน่ายโดยหน้าร้านเปิดเป็นร้านรับส่งพัสดุ ถนนพระราม 2 แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 4 รายการ รวม 470 ชิ้น, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำนวน 8 รายการ รวม 2,024 ชิ้น, ผลิตภัณฑ์ยา จำนวน 1 รายการ รวม 120 ชิ้น และ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร จำนวน 3 รายการ รวม 239 ชิ้น
จากการตรวจค้น พบว่าสถานที่ดังกล่าวได้มีการปิดบังอำพรางโดยเปิดหน้าร้านเป็นร้านรับส่งพัสดุแต่ภายในร้านใช้เป็นสถานที่จัดเก็บสินค้าผิดกฎหมายจำนวนมาก พร้อมจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทั้ง Shopee Lazada มียอดขายประมาณ 4,000- 5,000 ชิ้น ต่อเดือน โดยมีจำหน่ายมาแล้วกว่า 2 ปี

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้ทดสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวัตถุดิบที่ตรวจพบด้วยชุดตรวจไซบูทรามีน ผลการทดสอบเบื้องต้นปรากฏผลเป็นบวก จำนวน 6 รายการ ประกอบด้วย
1.1 ผลิตภัณฑ์กาแฟ ยี่ห้อ Vitaccino
              1.2 ผลิตภัณฑ์กาแฟ ยี่ห้อ Slimming Coffee
              1.3 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ Lishou
1.4 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ Baschi
              1.5 ผลิตภัณฑ์ กาแฟลดความอ้วน ยี่ห้อ 1+3
1.6 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ บาชิ
รวมตรวจค้นกรุงเทพมหานคร 2 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 4 รายการ, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำนวน 9 รายการ, ผลิตภัณฑ์ยา จำนวน 1 รายการ และ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร จำนวน 3 รายการ รวมตรวจยึดของกลาง จำนวน 17 รายการ จำนวนกว่า 4,297 ชิ้น มูลค่ากว่า 400,000 บาท

2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน (ยี่ห้อ Lishou, Baschi และ บาชิ) จำนวน 12,650 ชิ้น
3. ผลิตภัณฑ์กาแฟ ต้องสงสัยว่าผสมไซบูทรามีน (ยี่ห้อ Vitaccino, Slimming Coffee และ 1+3) จำนวน 8,655 ชิ้น รวมของกลาง 21 รายการ มูลค่ากว่า 450,000 บาท
นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี

สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึด จะต้องส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อยืนยันอีกครั้ง หากตรวจพบสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป

เบื้องต้นการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. ประมวลกฎหมายยาเสพติด ฐาน “จำหน่ายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 โดยกระทำเพื่อการค้า” โทษตามมาตรา 149 วรรคสอง (1) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับไม่เกิน  1 ล้านบาท
2. กรณีพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบัน หรือมีการผสมสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ จะเป็นความผิด ฐาน “ผลิต/ จำหน่ายอาหารที่ไม่บริสุทธิ์” ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25(1) โทษตามมาตรา 58 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522  มาตรา 6(10) ฐาน “จำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท

ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai เฟซบุ๊ก อย. หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง