บะลาโกล เสือโคร่งตาเดียวจากคลองลานสู่บ้านใหม่ทับลาน

บะลาโกล เสือโคร่งตาเดียวจากคลองลานสู่บ้านใหม่ทับลาน

View icon 65
วันที่ 6 มิ.ย. 2567 | 15.43 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กรมอุทยานฯ โดย สบอ.12 เคลื่อนย้าย บะลาโกล เสือโคร่งตาเดียวจาก อช.คลองลาน มาสู่บ้านใหม่ป่าทับลาน

บะลาโกล วันนี้(6 มิ.ย.2567) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์)(สบอ.12) รายงานว่า บะลาโกล เสือโคร่งคลองลานที่ชาวบ้านพบเดินหิวโซ และได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา บริเวณหมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ล่าสุดแข็งแรงแล้ว พร้อมกับได้บ้านหลังใหม่ โดยกรมอุทยานฯ เคลื่อนย้ายไปปล่อยยังอุทยานแห่งชาติทับลาน

สืบเนื่องจากการช่วยเหลือเสือโคร่ง บะลาโกล โดยเจ้าหน้าที่ สบอ.12 สามารถดักจับได้แล้วนำมาพักฟื้นที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เพื่อตรวจสุขภาพ ตรวจโรคติดต่อที่สำคัญ และรักษาอาการบาดเจ็บที่ดวงตาข้างซ้าย

จากการวินิจฉัย โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตาในสัตว์ พบว่าดวงตาข้างซ้ายเป็นต้อและมีอาการอักเสบรุนแรง หากปล่อยไว้อาจมีผลต่อดวงตาอีกข้าง จึงรักษาด้วยการนำลูกตาออก และแม้จะมีดวงตาเพียงข้างเดียว เสือโคร่งก็สามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติได้ ส่วนผลการตรวจสุขภาพอื่น ๆ ปกติ และไม่มีโรคติดต่อ โดยบะลาโกลได้รับการฟื้นฟูร่างกายจากเจ้าหน้าที่ให้อาหารที่เหมาะสม คล้ายคลึงกับชนิดอาหารในธรรมชาติ เสริมวิตามินที่จำเป็นและฝึกฝนพฤติกรรมให้สามารถดำรงชีวิตในป่าได้ เมื่อร่างกายบะลาโกลเริ่มสมบูรณ์ แผลที่ดวงตาเริ่มดีขึ้น จึงได้เริ่มวางแผนเพื่อจะปล่อยบะลาโกลสู่ผืนป่าธรรมชาติ

สำหรับสถานที่ที่ปล่อยนั้น ได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) เพื่อคัดเลือกพื้นที่ปล่อยบะลาโกล ผลการประชุมได้เลือกอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี เป็นพื้นที่เป้าหมายในการปล่อย เนื่องจากฐานข้อมูลการสำรวจติดตามประชากรเสือโคร่งรายปีในพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ของสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ พบว่ามีพื้นที่บางส่วนของอุทยานแห่งชาติทับลานยังไม่มีเสือโคร่ง ยึดเป็นพื้นที่หากิน ซึ่งมีความเหมาะสมต่อตัวสัตว์ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และมีขนาดพื้นที่เพียงพอที่จะรองรับเสือโคร่ง นอกจากนี้ยังพบว่าพื้นที่มีประชากรเหยื่อเพียงพอ และเป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งอินโดจีนที่มีปริมาณความหนาแน่นต่ำกว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง บะลาโกลจะช่วยเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมในพื้นที่ป่าทับลาน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่าหรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการเคลื่อนย้ายบะลาโกล และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เห็นชอบเคลื่อนย้ายบะลาโกล จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ไปปล่อยยังพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี ในวันที่ 5-6 มิถุนายน 2567

ส่วนขั้นตอนการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งบาละโกลไปยังอุทยานแห่งชาติทับลาน นายสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ได้เตรียมความพร้อมเสือโคร่ง โดยการงดอาหาร งดน้ำ เพื่อวางยาสลบ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานวิชาการทำการติดปลอกคอวิทยุสัญญาณดาวเทียมก่อนเคลื่อนย้าย เพื่อติดตามเส้นทางการดำรงชีวิตของบะลาโกลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และดำเนินการเคลื่อนย้ายในคืนของวันที่ 5 มิถุนายน 2567 เพื่อลดปัจจัยในการทำให้เสือโคร่งเกิดความเครียด ทั้งสภาพอากาศ และปัญหาการจราจรในช่วงเวลากลางวัน ระยะทางการเคลื่อนย้ายบะลาโกลสู่บ้านหลังใหม่ ใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมง โดยการติดตามของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด เมื่อถึงจุดหมายจึงทำการปล่อยบะลาโกล ในเวลารุ่งเช้าของวันที่ 6 มิถุนายน 2567 หลังจากนี้จะมีเจ้าหน้าที่จากสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ คอยดูแลระบบการติดตามและเฝ้าระวังทุกวัน จากการใส่ปลอกคอสัญญาณดาวเทียม พร้อมกับทางสถานีฯ ได้ติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์กระจายครอบคลุมพื้นที่ 40 ตร.กม. สามารถใช้ในการสอดส่อง และสร้างความมั่นใจในการติดตามเฝ้าระวังเหตุต่าง ๆ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน โดยหวังว่าบะลาโกลจะสามารถดำรงชีวิต และสืบเผ่าพันธุ์ เพิ่มจำนวนเสือโคร่งในผืนป่าธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติทับลานต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง