สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 255
วันที่ 11 มิ.ย. 2567 | 20.05 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 08.38 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำนักเรียนนายร้อย ชั้นปีที่ 4 ที่ศึกษาวิชาเลือกเสรี วิชาประวัติศาสตร์รัสเซีย ในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2567 จำนวน 35 นาย และข้าราชการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ไปทัศนศึกษาที่อาสนวิหารออร์โธด็อกซ์นักบุญนิโคลัส เพื่อเรียนรู้ด้านสังคม วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศไทย โดยมีบาทหลวงโอเล็ก เชเรพานิน ผู้แทนของพระศาสนจักรรัสเซียออร์โธด็อกซ์ สังฆมณฑลแห่งมอสโกในราชอาณาจักรไทย, นายเยฟกินี โทมีคิน เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทยและภริยา เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ

โอกาสนี้ ทรงจุดเทียนนมัสการพระเจ้า คณะบาทหลวงสวดภาวนาถวายพระพรเป็นภาษาสโลวานิค ซึ่งใช้เฉพาะในโบสถ์ คริสตจักรออร์โธด็อกซ์ มีการสวดภาวนาทุกเช้าวันอาทิตย์ และสวดเป็นภาษาไทยผสมผสาน เพื่อให้คริสตชนชาวไทยเข้าใจความหมายและคำสอนต่าง ๆ เสร็จแล้ว ทรงฟังบาทหลวงดาเนียล วรรณะ บรรยายเรื่อง "บทบาทของศาสนาคริสต์ออร์โธด็อกซ์ในรัสเซีย ร่วมสมัยและสถานะปัจจุบันในสังคมไทย" ศาสนาคริสต์พระศาสนจักรออร์โทด็อกซ์ เป็นศาสนาหลักของสหพันธรัฐรัสเซีย เผยแผ่เข้ามายังประเทศไทย ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ผ่านนักเดินเรือชาวรัสเซียที่มาติดต่อค้าขาย

ในปี 2542 สังฆมณฑลรัสเซีย ได้ส่งบาทหลวงโอเล็ก เชราพานิน มาเป็นผู้ประกอบพิธีทางศาสนา ตามคำร้องขอของคริสตชนออร์โธด็อกซ์ชาวรัสเซีย ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมถึงสร้างศาสนสถานในนาม อาสนวิหารออร์โธด็อกซ์นักบุญนิโคลัส และทำพิธีเสกเจิมโดยพระสังฆนายก มาร์ค อาร์ชบิชอปแห่งเยโกเรฟสกี้ ในปี 2557 อาสนวิหารออร์โธด็อกซ์นักบุญนิโคลัส เป็นโบสถ์ที่มีสถาปัตยกรรมแบบรัสเซียแท้แห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร ภายในเป็นโดมขนาดใหญ่ มีจิตรกรรมฝาผนัง และฉากกั้นพระแท่น เป็นภาพพระเยซู และเรื่องราวทางคริสตจักร ชื่อโบสถ์มาจากชื่อของนักบุญนิโคลาส ตามตำนานเล่าว่า นักบุญนิโคลาสจะมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผ่านหน้าต่างหรือปล่องไฟ เพื่อไม่ให้ผู้ใดทราบ หลังจากเสียชีวิตมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นหลายครั้ง จึงเป็นที่เลื่อมใสของคริสต์ศาสนิกชน ชาวตะวันตกรู้จักในนามของ "ซานตา คลอส"

ปัจจุบัน คริสตจักรออร์โธด็อกซ์ มีศาสนสถานทั่วประเทศรวม 11 แห่ง มีบาทหลวงเป็นผู้เผยแผ่แนวคิดทางศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ ภายใต้ธรรมนูญของสังฆมณฑลกรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย เพื่อความสงบสุข เสริมสร้างให้คนรักกัน ไม่แบ่งเชื้อชาติศาสนา หรือชนชั้นวรรณะ ในปี 2551 กระทรวงมหาดไทย รับรองให้คริสตจักรออร์โธด็อกซ์ เป็นองค์กรการกุศลชื่อว่า "มูลนิธิชาวคริสต์ ศาสนิกชนดั้งเดิมออร์โธด็อกซ์ในประเทศไทย" ที่ผ่านมา ได้มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ยากไร้ และช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

เวลา 10.35 น. เสด็จพระราชดำเนินทรงนำข้าราชการ และนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ไปยังพระตำหนักปารุสกวัน และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โอกาสนี้ ทรงฟังบรรยายประวัติความเป็นมา และสถาปัตยกรรมของพระตำหนักปารุสกวัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2446 เพื่อเตรียมไว้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ขณะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ หลังทรงสำเร็จการศึกษาจากสหพันธรัฐรัสเซีย โดยทรงศึกษาในโรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก ตามพระราชประสงค์ของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งจักรวรรดิรัสเซีย ทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระองค์แรก ทรงรับราชการทหารเป็นเสนาธิการทหารบก ทรงริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบินในไทย และทรงได้รับสมญานาม "บิดาแห่งกองทัพอากาศไทย"

พระตำหนักปารุสกวัน มีสถาปัตยกรรมเป็นแบบคลาสสิก ก่ออิฐถือปูน ตามแบบวิลลาของอิตาลี สถาปนิกชาวอิตาลี นำโดย นายมารีโอ ตามัญโญ ออกแบบและควบคุมการสร้าง เดิมตัวพระตำหนักมี 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นท้องพระโรง ห้องทรงพระสำราญ และห้องเสวย ส่วนชั้นบนเป็นบริเวณที่ประทับส่วนพระองค์ ห้องพระบรรทม ห้องสรง และห้องทรงพระอักษร ต่อมามีการต่อเติมพระตำหนักเพิ่มเป็น 3 ชั้น ชั้นบนเป็นห้องพระบรรทม ซึ่งใช้เป็นที่ประทับจนเสด็จทิวงคต เมื่อปี 2463

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารห้องสมุด สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทรงฟังบรรยายสรุป "ภารกิจของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ" สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นหน่วยข่าวพลเรือนระดับชาติหน่วยเดียวของประเทศ มีอำนาจและหน้าที่ 4 ด้าน ได้แก่ กิจการข่าวกรองทั้งภายในและต่างประเทศ, การต่อต้านข่าวกรองทั้งภายในและต่างประเทศ, ข่าวกรองทางการสื่อสาร เทคนิคและเครือข่าย และการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ประสานกิจการข่าวกรองของประเทศ ตอบสนองความต้องการของรัฐบาล สภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน ในยุคข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้าง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้ตั้งหน่วยงานภายในชื่อว่า ศูนย์ข่าวเปิด Open Source Center เพื่อติดตามข่าวจากช่องทางต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังเพิ่มบทบาทในการจัดทำองค์ความรู้ ซึ่งเป็นงานใหม่ ต่างจากรวบรวมข่าวแบบเดิม คือ การทำอนาคตศึกษา หรือ Foresight Intelligence เป็นการทำทีมวิจัยขนาดเล็ก ร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อประมาณการสถานการณ์ในระยะยาว พยากรณ์อนาคตระยะ 10 ปี ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐนำไปกำหนดนโยบายด้านต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ สิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการทรัพยากรและการจัดการตามแนวการพัฒนาที่ยั่งยืน

การทัศนศึกษาครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายให้นักเรียนนายร้อยได้เรียนรู้ในด้านสังคม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศไทย ซึ่งปีนี้ได้สถาปนาให้เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระหว่างกัน และครบ 127 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ตั้งแต่สมัยพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 แห่งจักรวรรดิรัสเซีย แม้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเกษียณอายุราชการ แต่ยังทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ และทรงนำนักเรียนนายร้อยทัศนศึกษาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ทั้งในและต่างประเทศ เช่นที่ทรงเคยปฏิบัติตลอดเวลาที่ทรงรับราชการ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อนักเรียนนายร้อยและข้าราชการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าอย่างหาที่สุดมิได้

เวลา 17.20 น. เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นำผู้บริหาร วิศวกร และนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ สำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน และหอดูดาวดาราศาสตร์เซี่ยงไฮ้ สภาวิทยาศาสตร์จีน พร้อมด้วยผู้บริหารจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าของความร่วมมือไทย-จีน เกี่ยวกับโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ และการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 13 เมตร อาทิ การส่งอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจวิทยาศาสตร์ที่ออกแบบและสร้างโดยไทยไปยังวงโคจรรอบดวงจันทร์กับยานฉางเอ๋อ-7 มีกำหนดออกเดินทางไปดวงจันทร์ในปี 2569 นับเป็นก้าวสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักวิจัย และนักศึกษาไทยจะได้ดำเนินโครงการวิจัยเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักวิจัยระดับโลก เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนากำลังคน ความเชี่ยวชาญสูง และโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอย่างก้าวกระโดด

ส่วนการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 13 เมตร จะมีการติดตั้งสถานีภูมิมาตรศาสตร์ ในไทย 2 แห่ง เพื่อทำงานวิจัยร่วมกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุทั่วโลก ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งจะช่วยให้ไทยเป็นผู้นำการวิจัยการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก และด้านภูมิมาตรศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข่าวอื่นในหมวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง