มติ กนง. 6 ต่อ1 เสียง คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50%

มติ กนง. 6 ต่อ1 เสียง คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50%

View icon 94
วันที่ 12 มิ.ย. 2567 | 14.25 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันนี้ (12 มิ.ย. 67)    นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี พร้อมคงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปีนี้ไว้ 2.6% และปี 2568 ที่ 3.0% ตามเดิม

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศ และภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกขยายตัวในระดับต่ำ โดยสินค้าส่งออกบางกลุ่ม มีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นและประเมินว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2567

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.6% และ 3.0% ในปี 2568 ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจในปีนี้ได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศที่สูงกว่าคาดในไตรมาสที่ 1 ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาสที่ 2

ขณะที่ภาคการส่งออกในปีนี้ จะยังขยายตัวในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง อีกทั้งสินค้าบางกลุ่ม โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ เผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ทั้งนี้ ต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกและภาคการผลิต รวมทั้งแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ มีแนวโน้มใกล้เคียงเดิมอยู่ที่ 0.6% และ 1.3% ในปีหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และปี 2568 ที่ 0.9% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดกลับมาเป็นบวก และมีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาพลังงานในประเทศ จากการทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ขณะที่แรงกดดันด้านอุปทานที่ทำให้ราคาหมวดอาหารสดอยู่ในระดับต่ำมีแนวโน้มคลี่คลาย

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการส่งออก และมาตรการภาครัฐ โดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง