เจาะประเด็นข่าว 7HD - โครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของ กทม. ที่ถูกตรวจสอบ หลังพบว่ามีราคาสูงเกินจากตลาด และส่อฮั้วประมูล ล่าสุด เข้าสู่กระบวนกาสอบข้อเท็จจริงและหากพบผู้กระทำผิด เตรียมฟันโทษทางวินัยและอาญา ติดตามได้กับ คุณณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ใน คอลัมน์หมายเลข 7
นี่คือท่าทีของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เปิดทางให้มีการตรวจสอบโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ทั้ง 9 โครงการ หลังจากเพจชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย แฉว่า ศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ จัดซื้อราคาส่อแพงเกินจริง ซึ่งทั้ง 2 แห่ง จัดซื้อแห่งละ 11 รายการ รวมกันเกือบ 10 ล้านบาท
โดยพบว่า ราคาเครื่องออกกำลังกายแพงมากสุด อยู่ที่ ศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ คือ อุปกรณ์ลู่วิ่งไฟฟ้า จัดซื้อ 1 เครื่อง ราคา 759,000 บาท ส่วนที่ ศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ คือ อุปกรณ์บริหารกล้ามเนื้ออเนกประสงค์ จัดซื้อ 1 เครื่อง ราคา 652,000 บาท การจัดซื้อทั้งสองเเห่ง กลายเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้สังคมหันมาตั้งคำถามถึงการจัดซื้อจัดจ้างของ กรุงเทพมหานคร ว่าราคาเครื่องออกกำลังกาย 1 รายการ ซื้อรถยนต์ได้ 1 คัน
นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร ระบุพบข้อบกพร่อง หรือ ข้อบ่งชี้ว่า อาจมีมูลทุจริต ยืนยันปัญหาอยู่ที่ความไม่เหมาะสมของราคากลาง เเละการให้บริการไม่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการใช้งาน ส่วนเรื่องขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง ยังไม่พบความผิดปกติ
ล่าสุด ได้รวบรวมข้อมูลและนำเรื่องส่งไปยัง ป.ป.ช. ดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต และประพฤติมิชอบแล้ว พร้อมเเต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ภายใน 30 วัน ทั้ง 9 โครงการ พบใครกระทำผิด เตรียมฟันโทษทั้งวินัย เเละอาญา
ขณะที่ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ยืนยันว่า มีหลายพฤติกรรมส่อฮั้วประมูล ทั้งมีผู้เเข่งขันน้อยกว่าสามราย เเละสลับกันเป็นผู้ชนะ ราคาบริษัทคู่เทียบต่างกันเล็กน้อย รวมถึงเขียนสเปกสินค้าให้มีลักษณะเจาะจงมาก
การจัดซื้อจัดจ้างในปัจจุบัน จะเกิดความคุ้มค่า ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใช้สอย เเละอาจถึงเวลาที่กรุงเทพมหานคร ต้องทบทวนเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ โดยเฉพาะราคากลางให้ได้มาตรฐานกับท้องตลาด เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่เหมือนเช่นโครงการนี้ เราจะติดตามอย่างต่อเนื่อง