เสี่ยงปัญหาสุขภาพ กัญชาต้องใช้ทางการแพทย์เท่านั้น

เสี่ยงปัญหาสุขภาพ กัญชาต้องใช้ทางการแพทย์เท่านั้น

View icon 251
วันที่ 24 มิ.ย. 2567 | 07.37 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กัญชาต้องใช้ทางการแพทย์เท่านั้น พบ 3 ใน 10 คนที่ใช้จะติดกัญชา ยิ่งใช้เยอะโรครุมเร้า ใช้เป็นประจำเสี่ยงเป็นโรคจิตถึง 2 เท่า  นอกจากนี้ กัญชามีฤทธิ์ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หลังเสพออกฤทธิ์นานหลายชั่วโมง เสี่ยงหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง ควันทำให้เสี่ยงป่วยเป็นมะเร็งปอดไม่น้อยกว่าการสูบบุหรี่

หมอชวนรู้โดยแพทยสภา ได้เผยแพร่บทความของ ศ.นพ. มานิต ศรีสุรภานนท์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งระบุถึงกัญชา โดยเฉพาะ delta-9 tetrahydrocannabinol (THC) เป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้ผู้เสพรู้สึกผ่อนคลายและเคลิบเคลิ้ม กัญชาจึงถูกนำไปใช้เพื่อนันทนาการจนทำให้เกิดการเสพติดได้ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษสากลขององค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้กัญชาและสารสกัดกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือ เป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติดสูงและมีแนวโน้มสูงที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

6678c1a8d96eb5.36202773.jpg

ในขณะที่กัญชาทางการแพทย์มักอยู่ในรูปของสารสกัดกัญชาที่ใช้สูบส่วนใหญ่มักเป็นกัญชาเพื่อนันทนาการ ในปี 2562 พบว่า ร้อยละ 2.2 ของคนไทยวัยผู้ใหญ่ มีการใช้กัญชาอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วง 1 ปีก่อนการสำรวจ และความชุกนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.2 ใน พ.ศ. 2564 การใช้กัญชาที่เพิ่มขึ้นมากนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายของคนไทยเพิ่มมากขึ้น

ผลกระทบของการใช้กัญชาต่อสุขภาพจิต การติดกัญชาผู้ที่ใช้กัญชาบ่อย ๆ จะเกิดการทนต่อยา ทำให้ต้องใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้ฤทธิ์เท่าเดิม ในผู้ที่ใช้กัญชาบ่อยและมากมักมีอาการถอนกัญชาเกิดขึ้นเมื่อหยุดใช้ เช่น วิตกกังวล (76.3%) หงุดหงิด (71.9%) นอนไม่หลับ (68.2%) อารมณ์ซึมเศร้า (58.9%)

ผู้ที่ติดกัญชามักไม่สามารถหยุดใช้กัญชาได้ แม้การใช้กัญชานั้นจะทำให้เกิดผลเสียต่อการทำงาน การเข้าสังคม การดูแลตัวเอง หรือสุขภาพแล้ว บางการศึกษาพบว่า ทุก ๆ 3 ใน 10 คนที่ใช้กัญชาจะติดกัญชา

6678c1a9146e00.72858847.jpg

การใช้กัญชาอาจทำให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญา เช่น ความจำ ความสนใจ การตัดสินใจ และการประมวลผลข้อมูลลดลง ผลกระทบเหล่านี้จะเด่นชัดที่สุดเมื่อเกิดอาการเมากัญชาแบบเฉียบพลัน ในผู้ที่ใช้กัญชาบ่อยและมาก ความบกพร่องนี้อาจคงอยู่ได้ถึง 28 วันหลังหยุดใช้กัญชา และในบางรายอาจคงอยู่นานกว่านี้ หรือคงอยู่แบบถาวรหากมีการเริ่มใช้กัญชาตั้งแต่วัยรุ่น ใช้มาก และใช้เป็นเวลานาน ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาระยะยาวที่พบว่า ผู้ที่ไม่ใช้กัญชาจะมี IQ เพิ่มขึ้นราว 0.7 คะแนน แต่ผู้ที่ใช้กัญชาจะมี IQ ลดลงราว 5.5 คะแนน

โรคจิตและโรคจิตเภท การใช้กัญชาเป็นประจำเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิต ประมาณ 2 เท่า และการใช้ที่มากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น บางการศึกษาพบว่า ทุก ๆ 1 ใน 3 คนที่ป่วยเป็นโรคจิตระยะสั้นจากกัญชาจะป่วยเป็นโรคจิตเภทในอนาคต ซึ่งความเสี่ยงนี้สูงกว่าคนที่เป็นโรคจิตระยะสั้นจากแอมเฟตามีน (ซึ่งมีโอกาสเกิดประมาณ 1 ใน 5)

6678c1a87a2316.46351024.jpg

การเสพกัญชาอาจทำให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้ โดยเฉพาะในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่อายุน้อย บางการศึกษาพบว่า ผู้ที่เสพกัญชามีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมรุนแรงมากกว่าผู้ไม่เสพกัญชาราว 2 เท่า และพฤติกรรมรุนแรงเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการเสพกัญชาบ่อย มาก และนานขึ้น นอกจากนี้ กัญชายังอาจทำให้คลุ้มคลั่ง ซึมเศร้า วิตกกังวล และคิดฆ่าตัวตายได้ สำหรับผู้ป่วยทางจิตเวชที่ใช้กัญชาก็มักมีอาการทางจิตแย่ลง

ผลกระทบของการใช้กัญชาต่อสุขภาพกาย ระบบหัวใจและหลอดเลือด นอกจากกัญชาจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำในขณะเปลี่ยนท่าแล้ว ยังมีฤทธิ์ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่าปกติราวร้อยละ 20-100 ภายในเวลาไม่กี่นาที หลังการเสพและฤทธิ์นี้อาจคงอยู่นานหลายชั่วโมง อัตราการเต้นของหัวใจที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองได้

ระบบทางเดินหายใจ ในระยะสั้น การสูบกัญชาส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ ควันกัญชาจะระคายเคืองทางเดินหายใจและปอด ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ และการติดเชื้อในปอด การสูบกัญชาในระยะยาวทำให้เสี่ยงต่อโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และมีการสะสมทาร์และสารก่อมะเร็งในปอดมากกว่าการสูบบุหรี่ ทำให้เสี่ยงต่อการป่วยเป็นมะเร็งปอดไม่น้อยกว่าการสูบบุหรี่

การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร แม่ที่เสพกัญชาสามารถส่งผ่านสาร THC ผ่านรกและน้ำนมได้ ทารกที่ได้รับสาร THC จากแม่ขณะตั้งครรภ์และให้นมบุตรจะมีน้ำหนักแรกคลอดน้อย เจริญเติบโตช้า และพัฒนาการของสมองช้า แม่จึงต้องไม่ใช้กัญชาอย่างเด็ดขาดในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตร นอกจากนี้ หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรทราบด้วยว่าการหยุดเสพกัญชาหลังทราบว่าตนเองตั้งครรภ์เป็นการหยุดเสพที่ช้าเกินไป เพราะทารกได้เกิดขึ้นและได้รับสาร THC ไปหลายสัปดาห์แล้วก่อนที่แม่จะหยุดเสพกัญชา

6678c1a8a639f1.17957886.jpg

การเสพกัญชาเพื่อนันทนาการก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายอย่างยิ่ง นอกจากผู้เสพแล้ว ผู้ที่ได้รับควันกัญชามือสองก็อาจมีปัญหาดังกล่าวมาแล้วได้ด้วยเช่นกัน ผู้ป่วยที่ได้รับกัญชาทางการแพทย์ควรได้รับการตรวจประเมินโดยละเอียดก่อนได้รับการรักษา และได้รับการติดตามปัญหาสุขภาพอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยได้รับประโยชน์มากกว่าโทษของการรักษาด้วยกัญชาหรือสารสกัดกัญชา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง