พล.ต.อ. วินัย เผย ก.ตร.พรุ่งนี้ ชี้ขาดคำสั่งออกจากราชการไว้ก่อน!

พล.ต.อ. วินัย เผย ก.ตร.พรุ่งนี้ ชี้ขาดคำสั่งออกจากราชการไว้ก่อน!

View icon 143
วันที่ 25 มิ.ย. 2567 | 15.48 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
พล.ต.อ. วินัย เผย ก.ตร.พรุ่งนี้ ชี้ขาดคำสั่งออกจากราชการไว้ก่อน! ลั่น ยินดีสู้คดี กับ “บิ๊กโจ๊ก” ในชั้นศาล เพราะมั่นใจในข้อมูล หลักฐานที่มี

วันนี้ (25 มิ.ย.67) พล.ต.อ. วินัย ทองสอง ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เปิดเผยภายหลังทราบข่าวว่า พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยื่นฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีให้สัมภาษณ์ ยืนยันข้อเท็จจริงให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าใจว่า พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเว็บพนันออนไลน์

โดย พล.ต.อ. วินัย กล่าวว่า ยินดีที่ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ จะฟ้องร้องตนเอง เพราะจะได้นำพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีออกมาเปิดเผยกับศาลฯและสาธารณชน ซึ่งเรื่องนี้มองว่าเป็นสิทธิที่ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ สามารถทำได้ โดยหลังจากนี้หากการฟ้องร้องไปถึงในชั้นศาลจะนำพยานหลักฐานที่มีไปชี้แจง เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นกัน ว่าตนเองรู้ข้อมูลพยานหลักฐานหรือการกระทำใดๆ บ้าง

ส่วนกระแสข่าวว่าที่ประชุมอนุกรรมการ ก.ตร. มีคะแนนเอกฉันท์ 10 ต่อ 0 ว่า กรณีที่ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร รอง ผบ.ตร. ขณะที่เป็นรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เซ็นหนังสือคำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ออกจากราชการ ถูกต้องตามระเบียบตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 หรือไม่

พล.ต.อ. วินัย กล่าวว่า มีการประชุมเรื่องดังกล่าวจริงเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยตนเองเป็นประธานการประชุมอนุกรรมการ ก.ตร. ซึ่งจากการพิจารณา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 รวมถึงกฎหมายลูกอื่นๆ คณะอนุกรรมการ ก.ตร. ลงความเห็นในครั้งแรกออกมาเป็นเอกฉันท์ว่าการเซ็นหนังสือคำสั่งดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ

แต่มีการลงมติในรอบที่ 2 เนื่องจากมีผู้มาเข้าประชุมเพิ่มอีก 1 คน ทำให้การลงมติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่ลงมติความเห็นตามเดิม แต่มีอนุกรรมการ ก.ตร. 1 คนที่งดออกเสียง

ทั้งนี้ ผลการลงมติดังกล่าวจะนำส่งต่อไปให้นายกรัฐมนตรีและที่ประชุมคณะ ก.ตร. ชุดใหญ่ ซึ่งจะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (26 มิถุนายน 2567) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมติความเห็นของอนุกรรมการ ก.ตร. จะถูกนำไปประกอบกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและความเห็นของผู้ร่วมเข้าประชุมคนอื่นๆ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผลชี้ขาดในวันพรุ่งนี้ ตนเองไม่สามารถก้าวล่วงได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง