อีสานดื่มหนักเป็นอันดับ 2 เชื่อผิด คิดว่าเหล้าช่วยล้างพิษ

อีสานดื่มหนักเป็นอันดับ 2 เชื่อผิด คิดว่าเหล้าช่วยล้างพิษ

View icon 141
วันที่ 14 ก.ค. 2567 | 17.01 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ภาคอีสานดื่มหนักเป็นอันดับ 2 ของประเทศ สสส. ชวนเช็กค่าตับยืดชีวิต หยุดดื่มตับสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ใน 1-3 เดือน อดีตผู้ดื่มวัย 50 ปี ค่าตับวิกฤต เล่าประสบการณ์ดื่มเพราะเชื่อว่าเหล้าจะช่วยล้างสารเคมีจากการเกษตร เลิกเด็ดขาดเพื่อลูก

วันนี้ (14 ก.ค.67) ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดบง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย สสส. ลงพื้นที่ถอดบทเรียนความสำเร็จและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พลังหมออนามัย ชวนคนลด ละ เลิกเหล้า Checkตับ ยืดชีวิต” นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด ปี 2564 พบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 32.2 สูงเป็นอันดับ 2 รองจากภาคเหนือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหลักของภาระโรคของคนไทย รองจากบุหรี่ และยังเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ไขมันแทรกในตับ ตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับ

คนไทยมีพฤติกรรมดื่มสุราแบบหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาจำนวน 5.73 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10.05 การดื่มหนักจะส่งผลให้ตับอักเสบ และตรวจพบเอนไซม์ตับรั่วออกมาในกระแสเลือดในปริมาณสูงได้  สสส. จึงได้บูรณาการองค์ความรู้ด้านปัจจัยเสี่ยงหลัก และระบบบริการสุขภาพ โดยริเริ่ม  “โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพในผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน” ควบคู่กับการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ตามแนวคิด “ฤดูกาลสุขปลอดเหล้า” ตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รณรงค์ให้ประชาชน “วัดค่าเอนไซม์ตับ” ในพื้นที่นำร่อง 80 พื้นที่ ใน 12 เขตสุขภาพทั่วทุกภูมิภาค

นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า จากผลการคัดกรองพฤติกรรมผู้ดื่มด้วยแบบประเมินปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (AUDIT Score) ในทุกภูมิภาค เมื่อเดือน ธ.ค. 2566 จำนวน 13,556 คน พบกลุ่มผู้ดื่มแบบเสี่ยง 4,236 คน คิดเป็นร้อยละ 31.25 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะตับ และได้ชวนกลุ่มเสี่ยงเพื่อตรวจเลือดประเมินค่าเอนไซม์ตับ โดยมีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 3,469 คน พบเอนไซม์ตับผิดปกติ 849 คน คิดเป็นร้อยละ 24.47

สำหรับพื้นที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย มีประชาชนเข้าร่วมโครงการประเมินและคัดกรองพฤติกรรมผู้ดื่ม 1,594 คน เมื่อปี 2566 พบผู้ดื่มระดับเสี่ยงและอันตรายต่อสุขภาพ 478 คน ในจำนวนนี้ผู้สมัครใจตรวจเลือด เพื่อตรวจค่าเอนไซม์ตับ 377 คน พบการทำงานตับปกติ 302 คน ผิดปกติ 75 คน

ดร.บุญเรือง ขาวนวล นายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ และรองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและภารกิจพัฒนานิสิต คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า การตรวจค่าเอนไซม์ตับ ถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ทำให้ผู้ดื่มตระหนักถึงผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อสุขภาพตับ หากมีค่าเกิน 40 ยูนิต/ลิตร ถือว่าการทำงานของตับผิดปกติ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ใช่สาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น เช่น การกินยาบางชนิด  โรคไวรัสตับอักเสบ โรคไขมันพอกตับ ความผิดปกติจากพันธุกรรม สารพิษจากสิ่งแวดล้อม โรคทางเมตาบอลิซึม (โรคเบาหวาน ภาวะดื้ออินซูลิน)

อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อสุขภาพตับ ทำให้อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตาเหลือง ตัวเหลือง จุกแน่นใต้ชายโครงด้านขวาเกิดจากการอักเสบของตับ นำไปสู่โรคตับแข็งในที่สุด หากเลิกดื่มตับจะฟื้นฟูได้เองอย่างน้อย 1-3 เดือน ตับฟื้นฟูได้ ร้อยละ 80 ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน

นางสาวสมบูรณ์ อายุ 50 ปี ต.กุดบง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย หนึ่งในผู้ตรวจเอนไซม์ตับ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนดื่มเหล้าขาวทุกวัน ดื่มกัน 4-5 คน ประมาณ 3-4 ขวดต่อวัน เฉลี่ยคนละประมาณ 1 ขวด สาเหตุที่ดื่มเพราะตนทำอาชีพเกษตรกร มีความเชื่อว่าการดื่มเหล้าจะช่วยล้างสารเคมีจากการเกษตร เมื่อได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมโครงการงดเหล้า ได้มีการตรวจเอนไซม์ตับครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 พบค่าเอนไซม์ตับสูงถึง 542 ถือว่าวิกฤตเพราะมาตรฐานคือไม่ควรเกิน 40 จึงถูกส่งตัวไปรับการรักษาที่ รพ.โพนพิสัย

เมื่อโรงพยาบาลเจาะเลือดก็พบว่าค่าเอนไซม์ตับขึ้นไปสูงถึง 800 หมอจึงให้นอนโรงพยาบาล 2 วัน และให้ยารักษา ติดตามอาการทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง จากค่าเอนไซม์ตับที่สูงเช่นนี้ทำให้ลูกกังวล กลัวว่าแม่จะป่วยเป็นตัวแข็งและเสียชีวิต จึงตัดสินใจที่เลิกดื่ม ซึ่งผลการตรวจล่าสุดเมื่อเดือนพ.ค. 2567 พบว่าค่าเอนไซม์ตับลดลงมาเหลือ 27 ในระยะเวลา 5 เดือน ปัจจุบันแพทย์ไม่ได้นัดติดตามแล้ว และตั้งใจที่จะเลิกดื่มต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง