หมอเกศ จะว่ายังไงต่อ เพราะล่าสุดหลายมหาวิทยาลัยที่ถูกอ้างสร้างดีกรีทางการศึกษาทยอยออกมาปฏิเสธขณะที่กกต. ก็กำลังเร่งสอบ ข้อมูลประวัติการศึกษา เป็นการหลอกลวงให้ลงคะแนนเลือก เป็นสว. หรือไม่
วันนี้ (17 ก.ค.67) กรณีของ สว.เกศกมล เปลี่ยนสมัย หรือ หมอเกศ สว.กลุ่ม 19 ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้คะแนนเลือก สว.สูงสุด ที่นอกจากประเด็นถูกตั้งคำถามถึงโพรไฟล์ที่ใช้คำนำหน้าดอกเตอร์ และศาสตราจารย์จาก California University แล้ว
ประเด็นที่อ้างถึงมหาวิทยาลัยในไทย ที่ทำให้เธอก้าวไปสู่การใช้โพรไฟล์ รศ.ดร.พญ.ก็เป็นประเด็น เพราะเส้นทางหลังจากจบปริญญาโทมหาวิทยาลัยเกริก ได้อ้างถึงนิด้า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และอ้างว่าเป็นอาจารย์และทำตำแหน่งวิชาการกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
โดยสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์หรือ นิด้า ก็โพสต์ชี้แจงกรณีหมอเกศโพสต์เฟซบุ๊ก แฮชแท็ก นิด้า พร้อมระบุติวเข้มหัวข้อวิจัยดุษฎีนิพนธ์นั้น นิด้าระบุชัดบุคคลที่อ้างไม่ได้กำลังศึกษาหรือจบการศึกษาปริญญาเอกที่นิด้า
ขณะมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ชี้แจงเช่นกันว่าที่หมอเกศกมลอ้างเป็นอาจารย์ และทำตำแหน่งทางวิชาการ หรือศาสตราจารย์นั้น ทางมหาวิทยาลัยบอกภาพที่นำมาอ้างเป็นเหตุการณ์ฝึกซ้อมอบรมดับเพลิงฯ เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และยืนยันไม่เคยเป็นอาจารย์ และไม่เคยยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการด้วย
ส่วนที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ถึงจะยืนยันว่าหมอเกศ เรียนปริญญาเอกจริง แต่ยังอยู่ปี 2 เทอม 1 อยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนทำโครงร่างวิจัย และทำดุษฎีนิพนธ์ต่อไป โดยทางมหาวิทยาลัยเคยบอกให้หมอเกศเพิ่มข้อความในโพรไฟล์ว่าอยู่ระหว่างการศึกษา
ล่าสุดในเฟซบุ๊กของหมอเกศ ถอดคำนำหน้าว่า ดร.ออกไปแล้ว เหลือแค่หมอเกศ ซึ่งต้องติดตามต่อว่าในรายละเอียดที่หมอไปยื่นเพิ่มกับวุฒิสภา จะปรับโพรไฟล์ด้วยหรือไม่
ด้านกกต. มีรายงาน ขณะนี้ มีการรับ 2 คำร้องที่ขอให้ กกต.ตรวจสอบว่าการที่ น.ส.เกศกมล ระบุประวัติการศึกษาว่าเป็นศาสตราจารย์ จบปริญญาเอกจาก California University ในใบเอกสารแนะนำตัวสมาชิกวุฒิสภา (สว.3) เข้าข่ายเป็นการกระทำหลอกลวง จูงใจให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณ เพื่อให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนให้แก่ตนตามมาตรา 77(4) พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 หรือไม่ เป็นสำนวนเพื่อดำเนินการตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด 2566 โดยเลขาธิการ กกต.มีคำสั่งรับเป็นสำนวนเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 67 และอีกคำร้อง กกต.มีมติสั่งรับเป็นสำนวนเมื่อวันที่ 5 ก.ค.67
ส่วนที่ กกต.ประกาศรับรอง พญ.เกศกมลให้เป็น สว.เมื่อวันที่ 10 ก.ค. นั้น แต่ได้รับ 2 คำร้องดังกล่าวเป็นสำนวนแล้ว เนื่องจากตามกฎหมายไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร สว.ว่าต้องมีวุฒิการศึกษาระดับใด พญ.เกศกมล จึงไม่มีประเด็นที่ถูกร้องเรื่องขาดคุณสมบัติ แต่เป็นการกล่าวหาว่าข้อมูลประวัติการศึกษาในใบ สว.3 เป็นการหลอกลวงให้ลงคะแนนเลือก ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบ หาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาตามที่ระเบียบกกต.กำหนด กกต.จึงประกาศรับรอง พญ.เกศกมลไปก่อน และขณะนี้กำลังเร่งสืบสวนไต่สวนตามคำร้อง
สำหรับพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. 2561 มาตรา 77 กำหนดไว้ว่า
“ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (4) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้บุคคลอื่น เข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้สมัครใด เพื่อจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือก เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือถอนการสมัคร หรือกระทำการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้นั้นหมดสิทธิ ที่จะเลือกหรือได้รับเลือก หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิเลือกลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 -200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี”