วันนี้ (24 ก.ค.67) เวลา 10.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการแถลงข่าว “ดิจิทัลวอลเลต โครงการเพื่อประชาชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ววันนี้” โดยมีนาย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมแถลงด้วย ซึ่งสาระสำคัญสรุป ดังนี้
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงความจำเป็นและความคืบหน้าสำคัญของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (โครงการฯ) ว่า หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการพิจารณารายละเอียดโครงการฯอย่างรอบคอบ สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ข้อกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุมนั้น โครงการฯ มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
ซึ่งเมื่อเริ่มดำเนินโครงการฯ แล้ว จะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจจานวน 4 ลูก ได้แก่ พายุหมุนลูกที่ 1 การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก ถือเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังฐานราก กระจายไปพร้อมกันทุกอำเภอทั่วประเทศ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน พายุหมุนลูกที่ 2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่ และพายุหมุนลูกที่ 3 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อยอดกำลังซื้อ การบริโภค หรือสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ และพายุหมุนลูกที่ 4 พลังการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคนจะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม
ทั้งนี้ รัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถึง 15 กันยายน 2567 และมีกำหนดการที่จะให้เริ่มใช้จ่ายในโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
นอกจากนี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมกันแถลงรายละเอียดของโครงการฯ เพิ่มเติม ดังนี้
1. คุณสมบัติประชาชน ดังนี้
1.1 ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
1.2 สัญชาติไทย
1.3 มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567)
1.4 ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566
1.5 ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท
โดยตรวจสอบข้อมูลเงินฝาก 6 ประเภท ได้แก่ (1) เงินฝากกระแสรายวัน (2) เงินฝากออมทรัพย์ (3) เงินฝากประจำ (4) บัตรเงินฝาก (5) ใบรับเงินฝาก และ (6) ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับข้อ (1) – (5)
ทั้งนี้ เงินฝากดังกล่าวให้หมายความถึงเฉพาะเงินฝากที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึงเงินฝากในบัญชีร่วม และเป็นเงินฝาก ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567
1.6 ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
1.7 ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
1.8 ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
2. กำหนดการเข้าร่วมโครงการฯ
2.1 การลงทะเบียนประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567 จะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” บนสมาร์ตโฟน โดยไม่มีการจำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิ์ในโครงการฯ ดังนั้น ประชาชนทุกคนที่มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและมีคุณสมบัติครบถ้วน ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณการไว้จำนวน 45 - 50 ล้านคน
2.2 การลงทะเบียนประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ในระยะต่อไป โดยจะให้มีการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด (ระหว่างวันที่16 กันยายน – 15 ตุลาคม 2567) ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ตโฟน สำหรับส่วนของการใช้จ่ายนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชน แต่การใช้สิทธิซื้อสินค้าจากร้านค้าจะทำได้ในวงแคบกว่าการใช้สิทธิของประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ตโฟน ดังนั้น การลงทะเบียนผ่านสมาร์ตโฟนจะสามารถใช้งานได้สะดวกกว่า จึงแนะนำให้พยายามลงทะเบียนผ่านทางสมาร์ตโฟนก่อนเป็นอันดับแรก
2.3 การลงทะเบียนร้านค้า ในเบื้องต้นกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งจะมีการแถลงข่าวเพิ่มเติมเพื่อแจ้งเกี่ยวกับคุณสมบัติของร้านค้า ช่องทางและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และเงื่อนไขอื่น ๆ ให้ทราบต่อไป
2.4 การใช้จ่ายในโครงการฯ มีรายละเอียด ดังนี้
1) เริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567
2) เงื่อนไขการใช้จ่าย
2.1) การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า : ประชาชนจะสามารถใช้จ่ายได้กับร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และในการซื้อสินค้า หากประชาชนมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในอำเภอใด ก็ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าในอำเภอเดียวกันเท่านั้น และต้องซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) ซึ่งคำว่าซื้อขายแบบพบหน้านี้ จะมีการตรวจสอบ (1) ที่อยู่ของร้านค้าตามที่ลงทะเบียนโครงการฯ (2) ที่อยู่ของประชาชนตามทะเบียนบ้านในขณะที่ลงทะเบียนโครงการฯ และ (3) พิกัดที่อยู่ของประชาชนในขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้าต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกันการชำระเงินจึงจะสมบูรณ์
2.2) การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า : ร้านค้าทุกประเภทสามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) จึงซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้แม้จะอยู่ต่างพื้นที่
3. ขั้นตอนการลงทะเบียนเงินดิจิทัล และยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
3.1 รูปแบบที่ 1 การยืนยันตัวตนและลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567
3.2 รูปแบบที่ 2 การยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” มาก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2567 แล้วจึงค่อยมาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม - 15 กันยายน 2567 ซึ่งจะทำให้คงเหลือขั้นตอนลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ที่ง่ายและรวดเร็วกว่า
ดังนั้น จึงขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนเตรียมการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และทำการยืนยันตัวตนล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้โดยตรงจากแอปพลิเคชัน “App Store” สำหรับระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอปพลิเคชัน “Google Play” สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) บนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ นำเสนอรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนกรกฎาคม 2567
อนึ่ง ประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือพิมพ์เป็นภาษาไทยว่า www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย หรือสามารถสอบถามผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Call Center) สายด่วน โทร. 1111 ซึ่งพร้อมให้บริการและคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชนแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐบาล และคลิปจาก ไทยคู่ฟ้า