ป้องกันความสับสน 30 บาทรักษาทุกที่ สังเกตได้จากโลโก

ป้องกันความสับสน 30 บาทรักษาทุกที่ สังเกตได้จากโลโก

View icon 241
วันที่ 11 ส.ค. 2567 | 14.21 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สมศักดิ์ เผย 30 บาทรักษาทุกที่ เริ่มต้นที่ปฐมภูมิไม่ต้องใช้ใบส่งตัว กทม. คิกออฟ 26 ส.ค.นี้ ประชาชนสังเกตได้ง่ายจากโลโกติดที่หน่วยบริการ

วันนี้ (11 ส.ค.67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการดำเนินการ “30 บาทรักษาทุกที่” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้ารับบริการได้อย่างถูกต้องตามนโยบายที่จะเริ่มให้บริการในวันที่ 26 ส.ค.67 ที่ผ่านมาได้มอบให้ สปสช.จัดทำแนวทางการเข้ารับบริการ และยังเป็นแนวทางการให้บริการสำหรับหน่วยบริการที่เข้าร่วมให้บริการด้วย เพื่อความชัดเจนในการดูแล

“วันที่ 26 ส.ค.นี้ จะเป็นวันคิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเห็นสัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่” ติดที่หน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ สามารถเดินเข้ารับบริการได้เลย ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียว โดยใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท แต่ถ้าอาการของท่านเกินจากศักยภาพที่หน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการนวัตกรรมจะให้การดูแลได้ ก็จะได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่รับส่งต่อ เพิ่มความสะดวก ลดความแออัดการเข้ารับบริการให้กับประชาชน โดยการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน สำหรับตราสัญลักษณ์ใหม่นั้นจะเริ่มติดที่หน่วยบริการที่เข้าร่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน หลังจากนั้นจะทยอยติดที่หน่วยบริการในจังหวัดนำร่องที่ผ่านมาให้ครบถ้วน เพื่อให้ประชาชนใช้บริการได้สะดวกและง่ายขึ้น”  นายสมศักดิ์กล่าว

ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท นอกจากจะเข้ารักษาตามขั้นตอนปกติที่หน่วยบริการประจำของท่านแล้ว ยังมีทางเลือกใหม่สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการที่มีตราสัญลักษณ์ (โลโก) “30 บาทรักษาทุกที่” ปรากฏอยู่ด้านหน้า ซึ่งจะเป็นหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ ได้แก่ รพ.สต., สถานีอนามัย, ศูนย์สุขภาพชุมชน, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ประจำอำเภอ, และ โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ประจำจังหวัด ขณะที่ในกรุงเทพมหานคร หน่วยบริการระดับปฐมภูมิจะเป็น คลินิกชุมชนอบอุ่น และศูนย์บริการสาธารณสุข นอกจากนั้นยังมีหน่วยปฐมภูมิของโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์เข้าร่วมด้วย

สำหรับโรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่น ๆ นั้น เป็นหน่วยบริการในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ถือเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อที่จะต้องใช้ใบส่งตัวในการเข้ารักษา