รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ รับมอบเกียรติบัตร รักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีผ่าตัด ให้บริการครบวงจร สิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่ หมออารักษ์เผยเจอผู้ป่วยมากขึ้นทำให้แพทย์พัฒนาศักยภาพ ถ้าไม่มีคนไข้ หมอจะเชี่ยวชาญการรักษาได้อย่างไร
วันนี้ (14 ส.ค.67) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มอบเกียรติบัตรให้กับ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ผ่านเกณฑ์ตรวจประเมิน หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัด รองรับ 30 บาทรักษาทุกที่ โดยมี นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นผู้รับมอบ
ทั้งนี้ รพ.ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เริ่มแรกเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก จัดตั้งโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ด้วยเป้าหมายที่มุ่งพัฒนาเป็นระดับตติยภูมิขั้นสูงจึงได้ปรับนโยบายเพื่อให้ประชาชนทุกสิทธิเข้าถึงบริการได้ รวมถึงผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” และที่ผ่านมาได้มีการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทองฯ ให้กับนักศึกษาและประชาชนพื้นที่ใกล้เคียง ขณะเดียวกันผู้ป่วยที่อยู่นอกเขตพื้นที่หากเข้ารักษาและเป็นผู้ป่วยใน จะทำการเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. ตาม DRG. ทำให้มีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองฯ เข้ารับบริการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้พัฒนาศักยภาพการรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อน
ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นอกจากเป็นหน่วยบริการที่ให้การดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองทั้งกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในแล้ว วันนี้ยังขยายศักยภาพเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ต้องรับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดให้กับหน่วยบริการในพื้นที่ได้ นับได้ว่าเป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการได้อย่างครบวงจรกับผู้ใช้สิทธิบัตรทองตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ของรัฐบาล
ด้าน นพ.อารักษ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้พัฒนาศักยภาพจนยกระดับที่ให้การรักษาขั้นสูงได้ ทั้งการผ่าตัดสมอง การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้อง endoscope หรือการผ่าตัดข้อเข่าเทียมด้วยหุ่นยนต์ เป็นต้น และในวันนี้ยังได้ผ่านผ่านเกณฑ์ตรวจประเมิน “หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัด” กับ สปสช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
"ถ้าไม่มีคนไข้ หมอจะมีความเชี่ยวชาญการรักษาได้อย่างไร ซึ่งการได้เจอผู้ป่วยมากขึ้นเป็นจุดที่ทำให้แพทย์พัฒนาศักยภาพได้เร็วเช่นกัน อย่างโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ สามารถให้บริการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด หลังจากเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเพียง 1 ปีครั้ง จากเดิมที่เริ่มต้นมีหมอหัวใจคนเดียว เราก็เชิญผู้เชี่ยวชาญจากข้างนอกเข้ามาร่วมรักษา บุคลากรของโรงพยาบาลก็ได้รับพัฒนาศักยภาพ จนปัจจุบันสามารถผ่าตัดหัวใจได้เองแล้ว และนี่เป็นจุดแข็งที่ทำให้โรงพยาบาลเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบาย 30 บาท” ผอ.รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ กล่าว