ลุ้นพายุ 1-2 ลูก หอบฝนตกหนัก ก.ย.-ต.ค.นี้

ลุ้นพายุ 1-2 ลูก หอบฝนตกหนัก ก.ย.-ต.ค.นี้

View icon 97
วันที่ 26 ส.ค. 2567 | 14.14 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
รับมือน้ำขึ้นสูงสุดสุโขทัยพรุ่งนี้ (27ส.ค.) สทนช. เตือน เหนือ-อีสาน มีพายุ 1-2 ลูก หอบฝนตกหนัก ก.ย.-ต.ค.นี้ ตอนนี้น้ำน้อยกว่าปี 54  กทม. ไม่ท่วมแน่

วันนี้ (26ส.ค.67) นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในภาพรวมว่า แต่ละจังหวัดจะเป็นเจ้าภาพ ในการประสานความช่วยเหลือ ประชาชนอย่างเต็มที่ ในส่วนของสถานพยาบาล จะได้รับการปกป้อง เพื่อให้พร้อมสำหรับให้ความช่วยเหลือประชาชน

สำหรับสถานการณ์ฝนตกจะเริ่มน้อยลงในช่วงวันที่ 29-31 สิงหาคมนี้ จึงเป็นช่วงที่จะเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด

ส่วนปริมาณน้ำฝนในปัจจุบันน้อยกว่าปี 2554 อย่างมีนัยยะสำคัญ จึงเชื่อมั่นว่า น้ำจะไม่ท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน

ส่วนงบประมาณเยียวยามี 3 ส่วน คือ
1. งบประมาณของรองนายกรัฐมนตรี
2. งบประมาณของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอยู่แล้ว 50 ล้านบาท แต่จะทำเรื่องขอขยายวงเงิน เพิ่มเติม เพื่อไว้รองรับหากเกิดสถานการณ์อื่น ตามมา
3. งบประมาณของหน่วยงาน ที่จะเสนอขอมาโดยตรงเพื่อจัดซื้อเครื่องมือ และอุปกรณ์ระบายน้ำ เช่น เครื่องสูบน้ำ

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ที่สถานี 14A อำเภอศรีสัชนาลัย ก่อนถึงประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ปริมาณน้ำที่จังหวัดสุโขทัยจะขึ้นสูงสุด ซึ่งการบริหารจัดการน้ำประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ จะระบายน้ำออกไปทางคลองยมน่านเป็นหลัก ประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่หากรื้อสะพานรถไฟ ที่เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ จะสามารถระบายน้ำได้ถึง 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อีกส่วนจะระบายไปทางไปทางแม่น้ำยมสายเก่า ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนที่เหลือจะผ่านไปยังท้ายหาดสะพานจันทร์ เข้าสู่ตัวเมืองสุโขทัย ซึ่งขณะนี้ ระบายน้ำอยู่ที่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่มีน้ำล้นผนังกั้นน้ำเล็กน้อย โดยเจ้าหน้าที่และประชาชนก็ช่วยกันเสริมกระสอบทรายแล้ว เพื่อรักษาพื้นที่เศรษฐกิจของตัวเมืองสุโขทัย

ดังนั้น หากในวันพรุ่งนี้ผ่านพ้นไปได้ ก็จะสามารถรักษาพื้นที่ตัวเมืองสุโขทัยไว้ได้ หลังจากนั้นมวลน้ำทั้งหมดจะไหลลงไปสู่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และนครสวรรค์  โดยพื้นที่ลุ่มต่ำจังหวัดพิจิตรอาจได้รับผลกระทบบ้าง เพราะปริมาณน้ำค่อนข้างมาก จึงพยายามที่จะประกาศแจ้งประชาชนในพื้นที่ลงตามเหล่านั้นที่เคยประสบปัญหา เตรียมความพร้อม

ส่วนหนึ่งน้ำก็จะไหลเข้าไปในทุ่งบางระกำ หรือทุ่งอื่นๆ หากแม่น้ำน่านยังมีปริมาณน้ำไม่สูงมากนักก็จะเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่าน เพื่อให้น้ำในทุ่งมีปริมาณน้อยลง

เนื่องจากมีการประเมินว่า ในเดือนกันยายนมีแนวโน้มปริมาณฝนค่อนข้างมากเข้ามาอีกครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมๆที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยขณะนี้อยู่แล้ว

นายสุระสีห์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังสั่งการให้พื้นที่ต่างๆ ที่สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ และพื้นที่พี่ไม่สามารถระบายได้โดยธรรมชาติ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่มีเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ไปช่วยขุดระบายน้ำให้พื้นที่เหล่านั้น กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว แล้วรองรับน้ำในช่วงเดือนกันยายนที่มีแนวโน้มปริมาณฝนเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่เห็นอยู่จะมาจากลุ่มน้ำยม เพราะน้ำที่ท่วมจังหวัดน่าน จะลงที่เขื่อนสิริกิติ์ทั้งหมด ส่วนน้ำที่ท่วมจังหวัดพะเยา และเชียงราย จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง

ดังนั้น น้ำจากสุโขทัยจะไหลลงแม่น้ำยมสูงสุดอยู่ที่ 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก่อนจะไหลลงไปรวมที่จังหวัดนครสวรรค์ กว่า 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้การระบายน้ำคล้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 700 - 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็จะไม่ส่งผลกระทบตามที่เป็นข่าวว่าจะเหมือนกับปี 2554

แต่อาจส่งผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่หลุมต่ำที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ  ในจังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท และสิงห์บุรีบางส่วน

ทั้งนี้ ในการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทาน จะแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบล่วงหน้า  เพื่อเตรียมพร้อมยกสิ่งของขึ้นที่สูง

ส่วนพายุที่จะเข้ามานั้น กรมอุตุนิยมวิทยา ใช้หลักสถิติอ้างอิงว่า ช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ยังเป็นช่วงฤดูฝน มีโอกาสเกิดพายุหมุนเขตร้อนในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก ประมาณ 1-2 ลูก แต่จะเข้าสู่ประเทศไทยหรือไม่ จะต้องติดตามอีกครั้ง ซึ่งเราก็ไม่ประมาท โดยจะพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำในเขื่อนต่างๆ ไว้รองรับ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ ที่ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก รวมถึงจะเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งให้เร็วที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง