รองประธานคณะกรรมการกองทุนกำลังใจ ในพระดำริฯ ติดตามการดำเนินโครงการกำลังใจในพระดำริฯ ที่จังหวัดสงขลา

View icon 37
วันที่ 19 ก.ย. 2567 | 20.09 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง รองประธานคณะกรรมการกองทุนกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ไปติดตามการดำเนินโครงการกำลังใจในพระดำริฯ ณ ทัณฑสถานหญิงสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ซึ่งดำเนินโครงการฯ ในปี 2555 โดยปี 2567 กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับโครงการกำลังใจในพระดำริฯ โดยกองพัฒนานวัตกรรมการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ดำเนินงาน 6 ด้าน คือ การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย และมุมปลูกกฎหมาย ใส่ปัญญา, การฝึกอบรมความรู้และการฝึกอบรมวิชาชีพ, การส่งเสริมการทำงานในสถานประกอบการและมุมราชทัณฑ์ ปันโอกาส สร้างอาชีพ, นวัตกรรมและคนต้นแบบ, ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย

มีโครงการอบรมให้ความรู้และคำปรึกษาด้านกฎหมาย รูปแบบออนไลน์และพบปะ, ส่งเสริมการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ต้องขัง เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้ "โครงการโคกหนองนา แห่งน้ำใจ และความหวัง กรมราชทัณฑ์" รวมทั้งนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ นอกจากนี้ สำนักงานจัดหางานจังหวัดสงขลา ให้ความรู้ด้านแหล่งทุนในการประกอบอาชีพ แนะแนวทางอาชีพและประชาสัมพันธ์ตำแหน่งว่าง เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตหลังพ้นโทษ มีภาคีเครือข่ายภาครัฐ 12 หน่วยงาน และภาคเอกชน 5 หน่วยงาน

โอกาสนี้ รองประธานคณะกรรมการกองทุนกำลังใจ ในพระดำริฯ มอบประกาศเกียรติคุณแก่สถานประกอบการในเครือชบา เวลล์เนส กรุ๊ป, มอบรางวัลดีเด่นอันดับ 1 ด้านการช่วยเหลือให้ความรู้ทางกฎหมาย และรางวัลชมเชย ด้านการฝึกอบรมอาชีพ ซึ่งเป็นรางวัลดีเด่นในโครงการกำลังใจฯ ประจำปี 2564 ถึง 2565 แก่ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงสงขลา

จากนั้น เยี่ยมชมการฝึกอาชีพของผู้ต้องขัง อาทิ งานโภชนาการ ทำอาหารคาว ขนมไทย และเบเกอรี, งานทอผ้า มีโรงงานทอผ้า 32 กี่ ทอผ้าลายภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัด เช่น ผ้าทอยกดอก ผ้าถุงเกาะยอ ผ้าบาติก ผ้ามัดย้อมมัดแต้ม, การปักเลื่อมผ้าปาเต๊ะ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และงานตัดเย็บ งานจักสาน ซึ่งนำไปจำหน่าย ณ สถานฝึกทักษะอาชีพชวนชมสมิหลา หน้าทัณฑสถานหญิงสงขลา

ในปี 2568 จะส่งเสริมพัฒนาให้มีคนต้นแบบเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 คน, พัฒนานวัตกรรมการดำเนินงานให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเกิดประโยชน์ต่อผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ รวมทั้ง ลดการกระทำผิดซ้ำ

ในตอนบ่าย เดินทางไปยังวิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา ที่ไปจัดอบรมหลักสูตรด้านทักษะอาชีพให้ผู้ต้องขังภายในทัณฑสถานหญิงสงขลา เช่น หลักสูตรอาหาร-ขนมไทย, มาลัยมงคล, การใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น, การจัดดอกไม้สากล, แม่บ้าน, ช่างเชื่อม และช่างปูกระเบื้อง เพื่อให้มีความรู้ไปประกอบอาชีพและใช้ในชีวิตประจำวันได้

จากนั้น ไปเยี่ยมคนต้นแบบ ณ ร้านชบา นวดเพื่อสุขภาพ อำเภอหาดใหญ่ ซึ่งหลังพ้นโทษ สถานประกอบการได้เปิดโอกาส ส่งเสริมและสนับสนุนการมีงานทำของผู้พ้นโทษ เข้าทำงานบริการนวดเพื่อสุขภาพ ได้รับค่าตอบแทนชั่วโมงละ 150-200 บาท รวมทั้งห้องเสื้อชบา มีการตัดเย็บเสื้อผ้า ซ่อม-แก้ทรง และสนับสนุนสินค้าทัณฑสถานหญิงสงขลามาจำหน่าย เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง

ข่าวอื่นในหมวด