ดรามา! วัดทุบศิลปะงานปั้น ทำร้านกาแฟ

View icon 24
วันที่ 24 ก.ย. 2567 | 16.30 น.
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - วิจารณ์สนั่น! วัดดังทุบงานปูนปั้นศิลปะชั้นครู เพื่อเคลียร์พื้นที่ หวังเปิดเป็นคาเฟ่

ดรามา! วัดทุบศิลปะงานปั้น ทำร้านกาแฟ
ประเด็นดรามาร้อนๆ เกิดขึ้นหลังจากคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ลูกสาวของศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์เมืองเพชร นักวิชาการและนักเขียนชื่อดัง เจ้าของนามปากกา "ปราชญ์เมืองเพชร" โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า "พ่อล้อม เพ็งแก้ว ตายไม่ถึง 2 เดือน ช่างทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ ตายไปปีกว่า ๆ ได้มีการทุบงานปูนปั้นการเมืองของครูทองร่วงทิ้งไปแล้วที่วัดมหาธาตุ กลางเมืองเพชรบุรี เพราะจะใช้พื้นที่ทำร้านกาแฟ หมดพ่อล้อม หมดครูทองร่วง ต่อจากนี้ใครจะปกป้องรักษางานปูนปั้นศิลปะของเมืองเพชรบุรี"

เหตุการณ์ดังกล่าว สร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมถึงคนเพชรบุรีอย่างมาก ต่างมองว่า การทุบประวัติศาสตร์บ้านเมืองครั้งนี้ เท่ากับทุบสมองและปัญญา บางคนปรึกษากันว่า จะไปร้องเรียนได้หรือไม่ เพราะการกระทำแบบนี้ ไม่สมควรอย่างยิ่ง

เจ้าอาวาส เปรียบเปรยโอกาสเหมือน ไอติม
ขณะที่ "พระวชิรวาที" เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี โพสต์ข้อความธรรมมะ ระบุว่า "ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญคือ การปรับตัว คนที่ปรับตัวตามสถานการณ์ได้ทุกๆ วันของคุณ จะกลายเป็นโอกาส โอกาสเหมือนไอติม ถ้าไม่กินก็ละลายโอกาส เป็นสิ่งที่ไม่เคยรอเรา ถ้ามาแล้วไม่รีบคว้าเอาไว้ จะกลายเป็นอากาศ และยากที่จะพบกับช่วงเวลาอันควร หรือโอกาสอีกสักครั้ง"

หลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับเจ้าอาวาส ที่เอาคำว่า "โอกาสเหมือนไอศกรีม ถ้าไม่กินก็ละลาย" เพราะมองว่าวัดไม่ใช่บริษัท ไม่ต้องหาโอกาส หารายได้ โดยการทำลายสิ่งอันทรงคุณค่าที่วัดควรทำนุบำรุงแบบนี้  

เปิดใจลูกชาย ช่างทองร่วง ศิลปินแห่งชาติ
ด้านนายพรนิมิตร ลูกชายของนายทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ เปิดเผยว่า เพิ่งทราบข่าวว่าทางวัดได้ดำเนินการรื้อถอน เพื่อปรับพื้นที่จัดเตรียมการสร้างร้านร้านกาแฟ ซึ่งทางวัดไม่ได้มีการติดต่อมาทางครอบครัวเลย รู้สึกใจหาย และเสียดายศิลปะที่คุณพ่อสร้างไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชม ถูกทำลาย

ตำหนิ สิ้นคิด ปมวัดทุบศิลปะงานปั้น
นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการเครือข่ายประชาชนพิทักษ์สิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม นักวิชาการอิสระด้านสังคมศาสตร์ โพสต์บางช่วงว่า "การทุบปูนปั้นของครูทองร่วง ทำด้วยมือ แต่กลับถูกลบด้วยเท้า การทุบประติมากรรมปูนปั้นอันงดงามลึกซึ้ง หนึ่งในศิลปินแห่งชาติไม่กี่คนของเพชรบุรี ผู้เป็นตำนานเรื่องการบันทึกระบบสังคม การเมือง วัฒนธรรมมาไว้ในงานศิลปกรรม ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรีเพื่อทำร้านกาแฟ นับเป็นความสิ้นคิด เป็นความมักง่ายของผู้เกี่ยวข้อง เพชรบุรีเป็นเมืองช่างแท้ ๆ ทำไมไม่ตระหนัก"

การที่เจ้าอาวาสบอกว่า "ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลง โอกาสเหมือนไอติม ถ้าไม่กินก็ละลาย" พูดเหมือนเป็นนักธุรกิจ ท่านเป็นพระ จะคิดแต่เรื่องเงินไม่ได้ ต้องตระหนักถึงมิติทางสังคม เรามีวัดส่งเสริมจิตวิญญาณ ท่านจะหาเงินก็หาไป ไม่ควรทำลายศิลปวัฒนธรรม

ส่วนตัวคิดว่า การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์วัดให้ดีขึ้น เหมาะสมแล้ว เดิมมีห้องน้ำอยู่หน้าวัด ดูไม่ดีเลย และจะไม่มีปัญหาเลย ถ้าไม่มีการทุบทำลายศิลปกรรมอันทรงคุณค่า หรือหาทางย้ายไปจัดแสดงในที่เหมาะสม เมื่อถูกทุบทำลายไปแล้ว ได้ยินข่าวว่ามีคนบอกจะปั้นให้ใหม่ จะปั้นใหม่ได้อย่างไร มันคนละเรื่องกัน ศิลปินตายไปแล้ว มือแบบนั้นไม่มีอีกแล้ว

แจงปมทุบศิลปะงานปั้น เป็นข้อผิดพลาด
ขณะที่นายอุดมเดช เกตุเเก้ว หนึ่งในคณะกรรมการวัด โพสต์ชี้แจงข้อมูลอีกมุมว่า เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ และคณะกรรมการที่ร่วมพิจารณาแบบก่อสร้าง ไม่มีเจตนาจะทุบทำลายงานปูนปั้นของช่างทองร่วง ทางวัดมีความประสงค์พัฒนาพื้นที่ใช้สอย และโรงเรียนสุวรรณรังสฤษฏ์ฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนการกุศลทางพระพุทธศาสนา ที่ดำเนินการโดยวัดมหาธาตุฯ จึงได้รื้อถอนอาคารห้องน้ำ ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าวัดออก แล้วก่อสร้างอาคารร้านจำหน่ายสินค้า เครื่องดื่ม โดยใช้เงินของทางวัดดำเนินการ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะร่วมกับโรงเรียนในการบริหารจัดการ เช่น จัดแสดงและจำหน่ายผลงานของนักเรียน จำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม เป็นจุดบริการนักท่องเที่ยว เป็นต้น

ส่วนกรณีการทุบงานปูนปั้นของช่างทองร่วงนั้น ยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ใช่เจตนาของหลวงพ่อ กับคณะกรรมการ อาจจะเกิดจากข้อผิดพลาดในการออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง

ยันไม่มีเจตนาทุบศิลปะงานปั้น
สอดคล้องกับนายกฤษดากร อินกงลาศ หนึ่งในคณะกรรมการออกแบบ และก่อสร้างอาคารหลังดังกล่าว ยืนยันว่า เจ้าอาวาสไม่มีเจตนาทุบปูนปั้นทิ้ง แต่เกิดจากความผิดพลาดของคนงาน โดยโครงการก่อสร้าง มีการประชุมวางแผนตั้งแต่ปีที่แล้ว การประชุมระบุว่า จะสร้างศาลาเอนกประสงค์ขนาดเล็ก และภายในจัดมุมจำหน่ายเครื่องดื่มแก่ประชาชน ไม่ใช่เปิดเป็นร้านกาแฟตามที่เป็นข่าว โดยช่วงก่อสร้าง วัดเป็นคนว่าจ้างผู้รับเหมามาดำเนินการ จนล่าสุดพบว่า แบบแปลนการก่อสร้างมีขนาดใหญ่กว่าแบบแปลนเดิม อาจเพราะมีการปรับเปลี่ยนหน้างาน ส่วนปูนปั้นที่ถูกทุบ เป็นปูนปั้นรูปรั้วศาลาเสียหายไป 2 ชิ้น จาก 8 ชิ้น ตนก็รู้สึกเสียดาย และเสียใจที่เกิดเหตุนี้ขึ้น  

เปิดรายละเอียดศิลปะงานปั้นที่ถูกทุบ
สำหรับประติมากรรม 2 ชิ้นที่ถูกทุบทำลาย เป็นปูนปั้นประดับเสารั้วพิพิธภัณฑ์วัดมหาธาตุ หรือที่เรียกกันว่า "ศาลานางสาวอัมพร บุญประคอง" สร้างขึ้นปี 2536 ประติมากรรมชิ้นแรก เป็นภาพ "ชั่งหัวมัน" มีหนุมานทูนตาชั่งที่เอียง ข้างหนึ่งที่มีหัวมันสองหัว กลับมีน้ำหนักมากกว่าข้างที่มีหัวมันสามหัว เป็นการเสียดสีระบบสังคม และกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉล

ส่วนประติมากรรมอีกชิ้น เป็นรูปอาคาร ข้างบนเป็นห้องนอน-เตียงนอน มีม่านซ้ายขวาพริ้วไหว ตรงกลางมีธรรมจักร รายล้อมด้วยเครื่องอัฐบริขาร ส่วนใต้เตียงมียักษ์ขดตัวนอนอยู่อย่างอึดอัด

เป็นปริศนาธรรมสื่อถึงเรื่อง "ธัมมะมัจฉริยะ" คือความตระหนี่ในธรรม มัจฉริยะ แปลว่าความตระหนี่ เสียดาย เป็นกิเลสที่ทำให้คนใจแคบเห็นแก่ตัว ขาดความกรุณา การปั้นยักษ์ไปนอนขดอยู่ใต้เตียง สื่อถึงความโหดร้ายใจแคบ เป็นยักษ์รูปกายก็ร้ายอยู่แล้ว ใจยังร้าย หวงแหนวิชาความรู้ ไม่อยากให้คนอื่นรู้เท่าตน แทนที่จะนอนบนเตียงให้สบาย ก็ยอมขดตัวนอนอยู่ใต้เตียง เพื่ออำพรางความรู้

สำหรับวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี มีปูนปั้นอีกมาก เป็นทั้งปริศนาธรรม และการบันทึกประวัติศาสตร์ทางสังคมการเมือง ถือเป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง