เช้านี้ที่หมอชิต - มาที่เรื่องปลาหมอคางดำที่แพร่พันธุ์ไปหลายจังหวัดในไทย ก็เรียกว่า มีข้อสรุปจาก อนุ กมธ. อว. ซึ่งพบว่า มีเอกชนเพียงรายเดียวขออนุญาตนำเข้าและการแพร่ขยายพันธุ์ไปในหลายพื้นที่เกิดจากฝีมือมนุษย์
นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ในฐานะประธาน อนุ กมธ. อว. เผยผลการศึกษาที่ใช้เวลานานกว่า 2 เดือน
ผลพบว่า ปลาหมอคางดำ ที่แพร่พันธุ์ขยายไปแล้ว 79 อำเภอใน 19 จังหวัด เบื้องต้นพบมีเอกชนรายเดียว ที่ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ เข้ามาในราชอาณาจักร โดยขอนุญาตครั้งแรกเมื่อ ปี 2549
กระทั่งปี 2553 บริษัทขออนุญาตต่อกรมประมง และนำเข้าปลาหมอคางดำ จำนวน 2,000 ตัว จากสาธารณรัฐกานา โดยแจ้งว่าเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล ณ ศูนย์วิจัยสัตว์น้ำ ที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ต่อมาเมื่อเกิดการระบาด กรมประมงฯ ศึกษาวิเคราะห์ เส้นทางการแพร่พันธุ์ จากโครงสร้างพันธุกรรม ของประชากรปลา พบว่าแต่ละประชากรย่อยของปลาฯ ไม่มีความแตกต่างกัน ทางพันธุกรรมมากนัก บ่งชี้ว่าประชากรปลาหมอคางดำ ที่แพร่พันธุ์ในไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน
รวมทั้ง การขยายพันธุ์ของปลาหมอชนิดนี้ มีลักษณะเป็นหย่อมไม่เชื่อมกัน บ่งชี้ว่า การแพร่พันธุ์ในแต่ละพื้นที่ อาจมีสาเหตุเริ่มต้นมาจากการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำ โดยการกระทำของมนุษย์มากกว่าจะไปตามเส้นทางน้ำที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล
จึงเห็นว่า รัฐควรดำเนินการสอบหาผู้ ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาด ตามกฎหมาย การส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรา 97 โดยหน่วยงานรัฐ ควรเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าว เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ