สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2566 เป็นวันแรก

View icon 142
วันที่ 2 ต.ค. 2567 | 20.07 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 09.00 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2566 ในการนี้ สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมติทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณ ด้วยทรงสนพระราชหฤทัย ด้านพัฒนาการศึกษาไทยทุกระดับ ทรงให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา ที่ส่งผลต่อการพัฒนาเยาวชนไทย ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลของชาติ

ในการนี้ พระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ, พระราชทานกิตติบัตร แก่ศาสตราจารย์กิตติคุณ และผู้ได้รับ "รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช" ในวันนี้ มีผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี จากสาขาวิชาต่าง ๆ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รอบเช้า และรอบบ่าย รวมทั้งสิ้น 2,819 คน

โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความว่า "การพัฒนาเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของสังคมและบ้านเมือง เป็นที่เข้าใจกันอย่างซึมทราบว่า การจะทำให้เจริญก้าวหน้า ต่อมาเห็นว่าการพัฒนา ต้องสามารถอนุรักษ์ บำรุง ให้คงพัฒนาได้ต่อเนื่องยาวนาน จึงได้เกิดเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ใช้กันมากในปัจจุบัน ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น การศึกษาวิชาการต่าง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญโดยอย่างยิ่ง โดยการใช้วิชาการพัฒนาให้ยั่งยืนได้ มีข้อน่าพิจารณาอยู่สองประการ ประการแรก คือ ต้องหยั่งอยู่ในความรู้ที่ถูกต้อง และรู้กว้าง ที่ต้องรู้ถูกต้องนั้นก็เพื่อไม่ให้เกิดการพัฒนาที่ผิดพลาด ที่ต้องรู้กว้างนั้น เพราะการพัฒนาบ้านเมืองมีหลายด้าน จึงมีวิชาการหลากหลายด้าน เพื่อใช้ร่วมกันในการพัฒนา การจะถือวิชาเป็นใหญ่แต่ส่วนเดียวไปพัฒนา หรือจะพัฒนาแต่ด้านเดียว ไม่พัฒนาด้านอื่น ๆ ไม่อาจเรียกว่าเป็นวิชาการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ เพราะจะเกิดความขัดแย้งมากกว่าเกิดผลสัมฤทธิ์ ประการที่สอง ต้องยืนอยู่บนความถูกควร ตามเหตุผล เหมาะแก่สถานการณ์ เพราะการพัฒนาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็น และสภาวการณ์ วิชาการต่าง ๆ ปรับปรุง เพิ่มพูน เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ความยั่งยืนจึงไม่ได้เกิดเพราะการหยุดยืน หรือมุ่งแต่จะอนุรักษ์ จนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ การนำวิชาการไปไตร่ตรองอย่างรอบคอบ โดยประการทั้งสองนี้ไปพัฒนา จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง"

ข่าวอื่นในหมวด