เวลา 08.52 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 80 พรรษา อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ทรงติดตามการดำเนินโครงการ OUR Khung BangKachao ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 โดยมูลนิธิชัยพัฒนา รับพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่าควรสงวนพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ไว้เป็นพื้นที่สีเขียว และคงความเป็นปอดของคนเมือง
โอกาสนี้ ทรงฟังการกราบบังคมทูลรายงานของคณะทำงานต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่สีเขียว โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เน้นปลูกป่าไม้พื้นถิ่น ไม้ยืนต้น และไม้ผลที่เป็นอัตลักษณ์ ได้ปลูกต้นไม้ เพิ่ม 80,000 ต้น มีพื้นที่สีเขียว เพิ่มขึ้นกว่า 6,148 ไร่ และได้สร้างเครือข่ายชุมชน "คนรักคุ้งบางกะเจ้าและเยาวชนรุ่นใหม่" เพื่อดูแลพื้นที่สีเขียวให้ยั่งยืน
มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) บริหารจัดการน้ำทั้งสาม คือ น้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย ทำประตูเปิด-ปิดน้ำ เพื่อควบคุมระดับความเค็ม ปรับปรุงคูคลอง และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหามลภาวะ การบริหารจัดการขยะ การแปรรูปและสร้างมูลค่า โดยใช้วัดจากแดงเป็นศูนย์การเรียนรู้ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับต้นไม้ใหญ่ที่ดูดซับก๊าซในเวลา 1 ปี เกือบ 95,000 ต้น, จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ UPCYCLING วัดจากแดง รายได้มอบให้วิสาหกิจชุมชนวัดจากแดง
จัดทำแผนแม่บทการท่องเที่ยว ครอบคลุมทั้ง 6 ตำบล บูรณาการการท่องเที่ยวทั้งทางน้ำและทางบก โดยเฉพาะจักรยาน โดยชุมชนให้ความสำคัญด้านการตลาดและวัฒนธรรม เพื่อสร้างงานและรายได้
บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด สนับสนุนสินค้าทั้งด้านเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ อาหารและผลิตภัณฑ์ของชุมชน จัดหาตลาดในพื้นที่ และจุดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สร้างทัศนคติและความตระหนักรู้ถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และวิถีชีวิตของคุ้งบางกะเจ้า ซึ่งเป็นปอดของคนกรุงเทพฯ
จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการอนุรักษ์คุ้งบางกะเจ้าอย่างยั่งยืน โดยพระราชทานโครงการ “คลองลัดโพธิ์”, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแนวทางการอนุรักษ์ เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
นิทรรศการศึกษาวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมคุ้งบางกะเจ้า มีพรรณไม้ 3,696 ต้น สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 540 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า, การพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
นิทรรศการขับเคลื่อนการพัฒนาคุ้งบางกะเจ้าเพื่อความยั่งยืนโดยชุมชน เกิดเป็น "เครือข่ายคนรักคุ้งบางกะเจ้า" ขับเคลื่อนงานพัฒนาทั้ง 6 ด้าน ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และร่วมพัฒนาจุดเรียนรู้ทั้ง 7 แห่งใน 6 ตำบลของอำเภอพระประแดง
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรต้นลำพูจำลอง หนึ่งในต้นไม้ 63 ต้น ที่กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศให้เป็นรุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี พ.ศ.2561 มีหิ่งห้อยคุ้งบางกะเจ้า ดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายของระบบนิเวศ ในการนี้ ทรงปลูกต้นแดงน้ำ และทรงรดน้ำต้นโพทะเล ที่ทรงปลูกเมื่อปี 2551
จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการผลการพัฒนาสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซึ่งมีพระราชดำริเมื่อปี 2551 โดยกรมป่าไม้ ได้ปรับปรุงดิน, ขุดร่องเป็นแก้มลิง, ปลูกต้นไม้ และเพาะชำกล้าไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในคุ้งบางกะเจ้า พื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้สังคมพืชและสัตว์มีความหลากหลาย มีลักษณะเฉพาะตัว
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะ วัดจากแดง ทรงเปิด "ศูนย์วัฏสสาร" ซึ่งบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะครบวงจร ตามแนวคิด "เปลี่ยนขยะให้เป็นบุญ" สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน ลดปริมาณขยะ และเพิ่มมูลค่าขยะรีไซเคิล โดยพัฒนากลุ่มอาชีพสู่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ด้านการจัดการขยะครบวงจร พัฒนาผลิตภัณฑ์ Upcycling หรือ การเพิ่มมูลค่าผ่านการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น แปรรูปขวดพลาสติกชนิดใสเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ พัฒนาเป็นผืนผ้า อาทิ ผ้าไตรจีวร หมวก กระเป๋า, ฉลากข้างขวดทำเชื้อเพลิง, ฝาขวดทำโต๊ะ เก้าอี้ ถนนลาดยางพลาสติก, เศษพลาสติก ทำอิฐบล็อกปูพื้น และร่วมกับแบรนด์ชั้นนำระดับประเทศ ออกแบบให้สวยงาม ทันสมัย สร้างการตระหนักรู้ถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นำอัตลักษณ์ของคุ้งบางกระเจ้า อาทิ ตัวนาก ต้นจาก มาเป็นลวดลาย ช่วยต่อยอดทางธุรกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน นำโมเดลการจัดการขยะ ไปเผยแพร่ในการประชุมและสัมมนาพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ทำให้พระราชวัชรบัณฑิต (ประนอม ธัมมาลังกาโร) เจ้าอาวาสวัดจากแดง ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 22 ประเภทบุคคลประจำปี 2566
เวลา 10.46 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรแหล่งเรียนรู้การเกษตรด้านการทำสวนผสมผสานแบบร่องสวน ของนายสมาน เสถียรบุตร ซึ่งเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นคณะทำงานครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวและเกษตรกรต้นแบบ ที่ทำสวนแบบยกร่องมาตั้งแต่รุ่นทวด น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เน้นปลูกพืชแบบวนเกษตร ปลูกพืช 29 ชนิด เป็นผลไม้โบราณพันธุ์พื้นถิ่น และพืชผักสวนครัว ผลไม้ส่วนใหญ่ได้รับการจดทะเบียน GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผลผลิตเน้นบริโภคในครัวเรือน แจกจ่ายให้ญาติ จำหน่ายในชุมชนและนักท่องเที่ยว ทั้งยังจำหน่ายกิ่งพันธุ์และแลกเปลี่ยนพันธุ์ไม้กับชุมชนในพื้นที่ฯ, ด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้รับการสนับสนุนระบบหมุนเวียนน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย ช่วยให้น้ำไหลเวียนได้ดี มีหน่วยงานภาครัฐ มาให้ความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน และทำปุ๋ยหมัก
จัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวระดับตำบล ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม รับสมัครชาวบ้านใกล้แปลง 400 คน มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาแปลง มีการติดตามผลปีละ 2 ครั้ง ชาวบ้านได้รับประโยชน์จากการดูแลพื้นที่สีเขียวและจากผลผลิต ช่วยกรมป่าไม้ดูแลพื้นที่ ลดการบุกรุกทำให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังลานกิจกรรมวิถีถิ่น วิถีไทย รวมใจคุ้งบางกระเจ้า ซึ่งคณะทำงานด้านต่าง ๆ ในโครงการฯ ร่วมกับชุมชนคุ้งบางกระเจ้า ดำเนินงานพัฒนาครอบคลุมทั้ง 6 ตำบล สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่ผูกพันกับสายน้ำ และการเกษตร ผ่านผลผลิต วัฒนธรรม ประเพณี ที่มีลักษณะเฉพาะตัว เพื่อให้ "คุ้งบางกะเจ้า" เป็นพื้นที่สีเขียวอันทรงคุณค่า สร้างงานและรายได้แก่ชุมชน ได้แก่ ตำบลทรงคนอง กับการท่องเที่ยววิถีมอญ, ตำบลบางยอ กับวิถีเกษตรปลอดสารพิษ ลิ้มรสผลไม้ขึ้นชื่อ, ตำบลบางกระสอบ ของดีจาก "ต้นจาก" ไม่เพียงสร้างรายได้ แต่ยังฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศด้วย, ตำบลบางน้ำผึ้ง เส้นทางวิถีตลาดน้ำ ชุมชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, ตำบลบางกอบัว เส้นทางวิถีคลองแพ ชีวิตคนริมคลองธรรมชาติ อาหารพื้นถิ่น เมี่ยงกลีบบัว-พริกเกลือ สูตรชาวบางกอบัว, และตำบลบางกะเจ้า พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ พร้อมปั่นจักรยานสูดอากาศบริสุทธิ์
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการทำเมี่ยงกลีบบัว-พริกเกลือ ซึ่งแตกต่างจากที่อื่น เพราะได้นำพริกเกลือ อาหารโบราณของคนท้องถิ่น มาเป็นส่วนประกอบแทนน้ำเมี่ยง แต่ละตำบลมีอัตลักษณ์ที่แตกต่าง สร้างความสนใจให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ การพัฒนาพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกมิติ จึงเป็นการสร้างสมดุลอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างการจัดการพื้นที่สีเขียวภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง
เวลา 15.00 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารสำนักงานมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงเป็นประธานการประชุมสามัญคณะกรรมการมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2567 ซึ่งมีระเบียบวาระต่าง ๆ อาทิ รายงานจำนวนสมาชิกและความช่วยเหลือ, ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสุขภาพ, การดำเนินงานโครงการหมู่บ้านสายใจไทย จังหวัดสุโขทัย, การดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์, สรุปผลการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ไตรมาสที่ 1-3 ประจำปี 2567, รายงานด้านการตรวจสอบ, การอนุมัติงบดุล และงบการเงินของมูลนิธิสายใจไทยฯ สำหรับปี 2566, การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีสำหรับปี 2567, การรับบริจาคที่ดินและการขอจำหน่ายที่ดิน, แผนงานและประมาณการงบประมาณ ประจำปี 2568 และการแต่งตั้งกรรมการบริหาร