ฝายดอยน้อยสลิงขาด ไม่ใช่ต้นเหตุน้ำท่วมเชียงใหม่รอบ 2

ฝายดอยน้อยสลิงขาด ไม่ใช่ต้นเหตุน้ำท่วมเชียงใหม่รอบ 2

View icon 66
วันที่ 7 ต.ค. 2567 | 15.40 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ฝายดอยน้อยสลิงขาด ยืนยันไม่ใช่ต้นเหตุน้ำท่วมเชียงใหม่รอบ 2 น้ำระบายผ่านฝายได้เป็นปกติ สลิงขาดทำให้น้ำยกตัว 80 ซม. หากท่วมพื้นที่เกษตร อ.ป่าซาง ขณะนี้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

วันนี้ (7 ต.ค.67) นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายวิสูตร จันทร์เขียว หัวหน้าฝ่ายช่างกล และนายรังสรรค์ บุญยสิงห์ กำนันตำบลน้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน นายณรงค์ วงศ์จันทร์ทิพย์ ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 7 โครงการชลประทานเชียงใหม่ ลงพื้นที่ฝายดอยน้อย ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามการจัดการเศษสวะ กิ่งไม้ที่ลอยมาติดฝายเป็นจำนวนมาก ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่รอบแรก พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการ โดยใช้รถแบ็กโฮแขนยาว เข้ามาตักเศษขยะ เศษวัชพืช กิ่งไม้ขนาดใหญ่ออกจากฝาย ในขณะที่มวลน้ำยังไหลผ่านฝายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

นายเกื้อกูล กล่าวว่า ผลกระทบจากพายุซูริกทำให้มีฝนตกหนักในช่วงต้นเดือนและปลายเดือนกันยายน 2567 ฝายดอยน้อยได้ระบายน้ำออกไปทางปลายน้ำ และได้กำจัดเศษสวะ รวมทั้งพบว่ามีท่อนซุงเข้ามาชนสายสลิงที่อยู่ด้านหน้าบานระบายของฝายดอยน้อย ทำให้สลิงขาด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องแต่จำเป็นต้องแก้ไขเร่งด่วนด้วยการนำสลิงที่ขาดมาเกี่ยวกับหูบานด้านหลังของประตูระบายน้ำ เพื่อให้บานระบายยกได้

สำหรับสลิงที่ขาดมีจำนวน 5 บาน ซึ่งยกบานประตูขึ้นได้ที่ 2.5 - 3 เมตร ส่วนประตูอีกบานที่สลิงไม่ขาดก็สามารถยกได้เต็ม 6 เมตร ถึงแม้ว่าสลิงจะขาด แต่ฝายยังสามารถระบายน้ำได้ มวลน้ำยังเคลื่อนที่ผ่านได้เท่าเดิม แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ โช๊คเอฟเฟค (Chook Effect) คือ น้ำด้านหน้าฝายจะยกตัวสูงขึ้น

จากการประเมินของศูนย์วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานชลประทานที่ 1 ปริมาณน้ำด้านหน้าฝายจะยกตัวสูงขึ้นกว่าปกติประมาณ 80 เซนติเมตร ทำให้น้ำล้นคันด้านหน้าของฝายดอยน้อยและเข้าไปในพื้นที่บ้านท่าไม้ ตำบลน้ำดิบ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรบางส่วนมีน้ำไหลผ่าน ปัจจุบันน้ำที่ได้ล้นคันได้กลับลงสู่แม่น้ำปิงตามปกติ ส่วนคันกั้นน้ำก็ยังได้รับความเสียหายอยู่ จำเป็นต้องซ่อมแซมต่อไปในอนาคต

ส่วนประเด็นที่ว่าน้ำที่เกิดการยกตัวขึ้นด้านหน้าประตูระบายน้ำ มีผลกระทบต่อน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่หรือไม่นั้น นายเกื้อกูล ชี้แจงว่า ด้านหน้าฝายดอยน้อย จะมีฝายหนองสลีก ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของชลประทานลำพูน และอยู่ห่างจากฝายดอยน้อยประมาณ 15 กิโลเมตร ระดับน้ำที่ยกตัวไปก็ยังไม่ถึงด้านท้ายของหนองสลีกที่อยู่ด้านบนของฝายดอยน้อย ส่วนน้ำท่วมใน อ.หางดง อ.สันป่าตอง รวมถึงในเขตเมืองลำพูน ยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ จุดที่ได้รับผลกระทบมีเพียงน้ำล้นตลิ่งเหนือฝายดอยน้อย เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 67 เท่านั้น

“ยืนยันว่าประตูระบายน้ำยังยกขึ้นลงได้ ไม่มีผลต่อการระบายน้ำ ส่วนเรื่องขยะ เศษสวะ กิ่งไม้ที่มาติดที่ฝายดอยน้อยขณะนี้ มีผลกระทบน้อย แต่หากมาติดที่ด้านหน้าฝาย ก็จะทำให้การยกตัวของน้ำเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และอธิบดีกรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 ทำการตักขยะออกตลอด ทำทุกวัน โดยใช้รถแบ็กโฮ แขนยาว จำนวน 2 คัน” นายเกื้อกูล กล่าว

นายรังสรรค์ บุญยสิงห์ กำนันตำบลน้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมส่วผลกระทบกับ 5 หมู่บ้าน 40 กว่าครัวเรือน น้ำมาเร็วและลดเร็ว น้ำท่วมประมาณ 12 ชั่วโมง ปัจจุบันน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง และน้ำก็ข้ามฝายไปแล้ว เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับพื้นที่การเกษตรเป็นสวนลำไย นาข้าว ก็มีน้ำท่วมขังไม่สูง ไม่ได้รับความเสียหายมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง