ควาญช้างขอแจงปมต้องมีโซ่ - ตะขอ จ.เชียงใหม่

View icon 42
วันที่ 7 ต.ค. 2567 | 16.05 น.
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - จากกรณีน้ำทะลักเข้าท่วมศูนย์บริบาลช้าง อำเภอแม่แตง จนมีช้างล้ม 2 เชือก กลายเป็นกระแสดรามาถึงการเลี้ยงดู ทำให้ช่วยเหลือยาก ล่าสุด มีควาญช้างคนหนึ่งแสดงความเห็นถึงประเด็นดังกล่าว

ควาญช้างขอแจงปมต้องมีโซ่ - ตะขอ จ.เชียงใหม่
จากประเด็นดรามาที่ นางแสงเดือน ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอพยพช้างไม่ทัน ก่อนน้ำท่วม ล่าสุดควาญช้างของปางช้าง Thai Elephant Home และเป็นควาญช้างของ "เจ้าดัมโบ้" เป็นทีมควาญช้างที่เข้าร่วมภารกิจช่วยเหลือช้างที่ถูกน้ำท่วม โพสต์เฟซบุ๊กว่า "ในนามควาญช้างคนหนึ่ง จะออกมาพูดบ้าง ควาญต้องมีช้างเลี้ยง 1 คนต่อ 1 เชือก แล้วในช่วงที่น้ำมา ตั้งแต่วันที่ 2-3 ตุลาคม ทำไมช้างคุณไม่เอาออกมา ทุกคนรู้กันหมดว่าน้ำมา หน่วยงานต่าง ๆ ก็แจ้งแล้ว

ทุกคนน่าจะรู้จักหน้าที่ของตัวเอง แต่คุณไม่ยอมย้ายช้างเหล่านี้ออกเอง ก่อนที่น้ำจะมาถึง เวลามีพอที่จะย้ายช้างออก แต่คุณเลือกที่จะไม่ย้าย คุณจะไปโทษแต่คนอื่นไม่ได้ ที่เราไปช่วย เพราะเรารักช้าง แต่พอคุณออกมาพูดแบบนี้ ควาญช้างเอกชนแบบพวกผม เสียความรู้สึก ช้างทุกปาง ก็มีช้างดุ ๆ ทั้งนั้น แล้วทำไมเขาเอาออกหนีน้ำได้ การที่พวกผมใช้มีด ใช้โซ่ ใช้ตะขอ ไม่ใช่อยู่ ๆ เราจะไปทำไม่ดีกับช้าง แต่เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองและนักท่องเที่ยว จึงต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง

ปางผมที่พวกคุณบอกว่า ทารุณสัตว์ คุณลองเข้ามาดูในเพจ ช้างที่ผมอยู่ ได้เดินเล่น ได้เดินออกกำลังกาย ได้หาอาหารการกินหลายอย่างเป็นอิสระ นี่แหละความสุขของช้าง ไม่ใช่อยู่แต่ในคอก"

โต้ดรามา ! ถ้าล่ามโซ่ช้างล้มทุกเชือก จ.เชียงใหม่
ขณะเดียวกันเมื่อวานนี้ นางแสงเดือน หรือ "แม่เล็ก" ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม พูดถึงประเด็นดังกล่าวว่า มีกระแสพูดว่าถ้ามีการใส่โซ่ช้าง การสูญเสียจะไม่เกิดขึ้น ขอชี้แจงว่าถ้าใส่โซ่ ช้างตายทุกตัวได้เลย เพราะตอนที่เกิดเหตุ ไม่ใช่แค่น้ำ แต่เป็นดินโคลนที่ไหลมาด้วย ถ้าใส่โซ่มัดกับพื้น แต่น้ำสูง 5 เมตรกว่า ช้างจมน้ำทันที

ส่วนประเด็นที่บอกว่าได้รับผลกระทบอยู่ปางเดียว อาจเป็นเพราะกระแสน้ำเข้ามาที่ปางช้างแม่เล็ก อุทกภัยไม่มีใครอยากให้เกิด และไม่เคยมีประวัติเกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็ไม่ถือโทษโกรธใคร สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์มา สิ่งไหนที่แก้ไขได้ก็จะแก้ไข

นอกจากนี้ คุณแสงเดือน ยังโพสต์อีกว่า กรณีข้อกล่าวหาว่า ควาญของเราไม่เอาช้างออกมา ปล่อยให้ควาญข้างนอกทำอย่างเดียว ไม่เป็นความจริง ควาญช้างของตนเอง ช่วยกันเอาช้างที่อ่อนแอ หรือช้างรักษาตัวที่คลินิก ออกไปก่อน แต่เนื่องจากกระแสน้ำแรงและเร็ว ประกอบกับไม่มีเรือเข้าไป จึงทำได้ดีที่สุดแล้ว

เริ่มคลี่คลาย "ตัวเมือง" ดินโคลนเพียบ จ.เชียงใหม่
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในตัวเมืองเชียงใหม่ เช้าวันนี้ เริ่มคลี่คลายลงตามลำดับ โดยน้ำที่ท่วมสูงใน หลายจุดได้ลดลงแล้ว ทั้งนี้ที่ตลาดเมืองใหม่ และถนนเมืองสมุทร รวมทั้งถนนโดยรอบ เป็นย่านค้าส่งผักผลไม้และอาหารสด พบว่าน้ำที่ท่วมสูงตลอดหลายวันที่ผ่านมา ได้ลดลงเกือบหมดแล้ว ยังเหลือตะกอนดินและโคลนหนากว่า 20 เซนติเมตรทั่วพื้นที่

ขณะที่ ย่านตลาดวโรรส หรือกาดหลวง พบว่าน้ำลดลงแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตามในตัวตลาด โดยเฉพาะชั้นใต้ดิน ยังถูกน้ำท่วมขัง และต้องปิดให้บริการ เพื่อสูบน้ำออก

ร้านค้าที่ได้รับความเสียหาย บอกว่า น้ำท่วมครั้งนี้สร้างความเสียหายหนักที่สุดในรอบไม่ต่ำกว่า 50 ปี หรืออาจจะถึง 100 ปี โดยน้ำไหลเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว มีการแจ้งเตือนว่าน้ำน่าจะไหลเข้าท่วมประมาณ 02.00 น. แต่ปรากฏว่าช่วง 22.30 น. น้ำได้ทะลักเข้าท่วมแล้ว เพราะแนวกระสอบทรายถูกน้ำซัดพัง รวมทั้งมวลน้ำมากอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน

สถานีรถไฟยังไม่เปิดให้บริการ น้ำท่วมขัง จ.เชียงใหม่
ส่วนที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ ยังไม่เปิดบริการให้กับผู้โดยสาร เนื่องจากว่าทางรถไฟสายเหนือในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ บางจุดพื้นยังมีน้ำท่วมขังบนรางรถไฟ จึงได้งดการเดินรถชั่วคราว แต่ทางพนักงานก็เริ่มทำความสะอาด ล้างขี้โคลน เพื่อเตรียมจะเปิดบริการให้กับผู้โดยสารในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งต้องรอคำสั่งจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย อีกครั้ง

คาดอีก 3 วันกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จ.เชียงใหม่
ล่าสุด ระดับน้ำในแม่น้ำปิง ที่สถานี P.1 สะพานนวรัฐ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เวลา 16.00 น. ได้ลดลงมาอยู่ที่ 3.63 เมตร ซึ่งต่ำกว่า 4 เมตรแล้ว เพราะมวลน้ำใหญ่ได้ไหลผ่านไปแล้ว ประกอบกับบริเวณต้นน้ำไม่มีฝนตกแล้ว หลังจากนี้น้ำที่จะค่อย ๆ กลับสู่ปกติ เช่นเดียวกับจุดวัดน้ำ P67 แม่แตง อำเภอสันทราย วัดได้ 2.59 เมตร ลดลงเช่นกัน คาดว่าอีกภายใน 3 วัน จะกลับสู่ภาวะปกติ

เร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยใน อ.สารภี จ.เชียงใหม่
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่จะต้องดำเนินการต่อจากนี้ คือ การระดมกำลังเข้าไปช่วยเหลือ ประชาชนที่อยู่ในอำเภอทางพื้นที่ปลายน้ำ เนื่องจากขณะนี้มวลน้ำกำลังไหลผ่านจากตัวเมืองเชียงใหม่ มุ่งไปสู่อำเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่ปลายน้ำ โดยเฉพาะอำเภอสารภี ที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก มากกว่าน้ำท่วมครั้งก่อน ซึ่งทางจังหวัดได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งย้ายสรรพกำลัง ทั้งคน เครื่องมือ ยานพาหนะ และเครื่องจักร ไปให้การช่วยเหลือแล้ว

โดยให้จัดลำดับความรุนแรงของพื้นที่ ที่จะไปช่วยประชาชนและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งพื้นที่เสี่ยงสูงประกอบด้วย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ ตำบลป่าแดด, อำเภอสารภี ได้แก่ ตำบลท่าวังตาล, ตำบลหนองผึ้ง, ตำบลหนองแฝก , ตำบลยางเนิ้ง , ตำบลป่าบง , ตำบลสันทราย , ตำบลชมภู , ตำบลสารภี และอำเภอสันป่าตอง ได้แก่ ตำบลทุ่งต้อม , ตำบลแม่ก๊า นอกจากนี้ยังรวมไปถึงพื้นที่บางส่วนของอำเภอเมืองลำพูนด้วย

กระทบท่องเที่ยว สูญเงิน 2,000 ล้านบาท จ.เชียงใหม่
ด้าน นายพัลลภ แซ่จิว รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมติดต่อกันรอบ 2 ล่าสุดกระทบการท่องเที่ยวหนักมาก เฉพาะเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ปกติภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมดของเชียงใหม่ จะอยู่ที่ตัวเลข 6,000 ล้านบาท ตอนนี้ลดลงเหลือ 200 ล้านบาทต่อวัน เพราะสถานการณ์น้ำท่วมขยายวงกว้างไปที่อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เท่ากับในช่วงเวลา 10 วัน สูญรายได้ไปในพริบตา 2,000 ล้านบาท

เตือน ! เตรียมรับมวลน้ำมหาศาล อ.สารภี จ.ลำพูน
ขณะเดียวกัน กรมชลประทาน เตือนชาวจังหวัดลำพูน เตรียมรับมวลน้ำมหาศาลที่มาจาก อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ถนนเลียบรางรถไฟ เนื่องจากระดับน้ำล้นน้ำปิงจากตัวเมืองเชียงใหม่ ทำให้พื้นที่หลายตำบลได้รับผลกระทบจำนวนมาก อีกทั้งน้ำไหลไม่เป็นทิศทาง

โดย อำเภอสารภี มีปริมาณน้ำมาก และมวลน้ำกำลังไหลมาทาง จังหวัดลำพูน คาดว่าจะไหลมาทางถนนเลียบรางรถไฟ เข้าสู่ตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน โดยมวลน้ำมหาศาลจะไหลลงสู่น้ำกวง ทำให้ อำเภอเมือง มีโอกาสเกิดน้ำท่วม น้ำล้นตลิ่งซ้ำอีกรอบ พร้อมเตือนบ้านก่อม่วง บ้านป่าเห็ว บ้านป่าเส้า บ้านไร่ บ้านหนองหมู บ้านชัยสถาน ตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน, บ้านต้นผึ้ง บ้านเหมืองง่า บ้านศรีบุญยืน ตำบลเหมืองง่า เฝ้าระวังมวลน้ำ

ส่วนบ้านเวียงยอง บ้านศรีเมืองยู้ บ้านวังไฮ บ้านสันต้นธง บ้านหลวย บ้านสันมะกรูด บ้านท่าศาลา บ้านปากล้อง ตลอดจนหมู่บ้านติดน้ำกวง เฝ้าระวังน้ำกวงที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจล้นเข้าท่วมบ้านเรือน

มวลน้ำเหนือถึง "เจ้าพระยา" คงอัตรา
นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) แถลงข่าวว่า จากการประชุมคณะติดตามสถานการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศว่า เขื่อนเจ้าพระยา ที่ห่วงว่าหลังปล่อยระบายน้ำเพิ่ม จะทำให้มีเข้ามาท่วมกรุงเทพมหานคร ตอนนี้ได้มีการระบายน้ำออกสู่ทุ่งรับน้ำตะวันออกและตะวันตก โดยจะคงอัตราระบายน้ำที่ตัวเลข 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

โดยขณะนี้ปริมาณน้ำเหนือลงมาถึงเขื่อนเจ้าพระยาแล้ว เชื่อว่ายังไม่วิกฤต ลำน้ำเจ้าพระยารองรับมีปริมาณ 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่น้ำที่สถานีบางไทร 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังมีช่องว่าง 1,500 ลูกบาศก์เมตร ถ้าไม่มีน้ำทะเลหนุน

4 เขื่อนหลักยังรับน้ำเหนือ
ขณะที่ปริมาณการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง และน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา พบว่าทั้ง 4 เขื่อนใหญ่ มีรวมปริมาณ 19,650 ลูกบาศก์เมตร หรือ 79% ยังรองรับน้ำได้อีก 5,221 ล้านลูกบาศก์เมตร

เขื่อนภูมิพล  มีปริมาณน้ำกักเก็บ 9,321 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 69 % ยังรองรับน้ำได้อีก 4,141 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนสิริกิติ์  มีปริมาณน้ำกักเก็บ 8,920 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 94 % ยังรองรับน้ำได้อีก 590 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน  มีปริมาณน้ำกักเก็บ 738 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 79 % ยังรองรับน้ำได้อีก 201 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  มีปริมาณน้ำกักเก็บ 670 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 70 % ยังรองรับน้ำได้อีก 290 ล้านลูกบาศก์เมตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง