เวลา 09.13 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนราชประชานุเคราะห์บ้านปลายแหลม ตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคู่สมรส ทัศนศึกษาชุมชนบริเวณแหลมตะลุมพุก และศึกษาประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเมื่อค่ำวันที่ 25 ตุลาคม 2505 เกิดพายุโซนร้อน ชื่อ "แฮเรียต" พัดผ่านตอนใต้ของประเทศไทย ความเร็วลมสูงสุด 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สร้างความเสียหาย รวม 12 จังหวัด โดยบริเวณแหลมตะลุมพุก มีผู้เสียชีวิตมากถึง 911 คน สูญหายและบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ประชาชนกว่า 16,000 คน ไร้ที่อยู่อาศัย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทราบ ด้วยทรงเป็นห่วงผู้ประสบภัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สถานีวิทยุ อส. พระราชวังดุสิต ประกาศเชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธา บริจาคทรัพย์และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้ยอดเงิน 11 ล้านบาทเศษ จึงพระราชทานเงินแก่กระทรวงศึกษาธิการ นำไปสร้างโรงเรียน 12 แห่ง ใน 6 จังหวัดภาคใต้ ทดแทนโรงเรียนที่ถูกพายุพัดพังเสียหาย ภายหลังพระราชทานชื่อว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 1-12 ตามลำดับ เมื่อช่วยเหลือประชาชนระยะแรกแล้ว ยังเหลือเงินอีก 3 ล้านบาท มีพระราชดำริให้นำเงินนั้นเป็นทุนก่อตั้ง "มูลนิธิราชประชานุเคราะห์" มีความหมายว่า "พระราชาและประชาชน อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน"
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์บ้านปลายแหลม ตั้งขึ้นในปี 2496 เดิมชื่อ โรงเรียนประชาบาลตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก เมื่อประสบเหตุวาตภัยทำให้เสียหายทั้งหลัง นักเรียนต้องใช้ศาลาชั่วคราว วัดสุเทพธารา เป็นที่เรียน ปัจจุบัน เปิดสอนชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียน 113 คน บุคลากรทางการศึกษา 17 คน บริหารงานและพัฒนาผู้เรียนตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว น้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" มาปรับใช้พัฒนาการสอน ผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพ มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง รักและภาคภูมิใจในท้องถิ่น ประกอบอาชีพสุจริต เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม
โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมผู้ประสบภัย พายุโซนร้อน "แฮเรียต" ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 80 ปี ซึ่งยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีระบบเตรียมความพร้อม แจ้งเตือนภัยผ่านเสียงตามสายและกลุ่ม Line รวมถึง มีอาคารเรียนที่ออกแบบให้ป้องกันภัยพิบัติใช้พักอาศัยได้ นอกจากนี้ ยังมีศูนย์พักพิงอุ่นไอรัก ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 30 กิโลเมตร รองรับผู้ประสบภัยได้มากกว่า 1,000 คน
เวลา 10.11 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรชายหาดแหลมตะลุมพุก หน่วยพิทักษ์ป่าแหลมตะลุมพุก ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าแหลมตะลุมพุก สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบ 35,456 ไร่ ทรัพยากรป่าไม้ ได้แก่ ป่าชายเลน และป่าชายหาด มีสัตว์ป่าหลายชนิด โดยป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้พื้นที่แหลมตะลุมพุกเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2526
คำว่า "ตะลุมพุก" มาจากชื่อปลา ที่อดีตพบมากบริเวณปลายแหลมแห่งนี้ จากบันทึกของจดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินยังแหลมตะลุมพุก เมื่อปี 2432 ความโดดเด่น คือ มีลักษณะเป็นสันทรายที่ยื่นยาวออกไปในทะเล คล้ายพระจันทร์เสี้ยว เรียกว่า "สันดอนทราย" ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งและทำนากุ้ง ในอดีตไม่มีเข็มทิศ ชาวประมงจึงอาศัยทิศทางลม ทำให้สามารถแล่นเรือไปยังจุดหมาย ปัจจุบัน แหลมตะลุมพุก ยังคงเป็นหาดทรายขาวสะอาด มีต้นสนเป็นแนวยาวสวยงาม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ด้วย
เวลา 11.11 น. ทรงนำคณะฯ เยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหูล่อง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อปี 2521 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยธรรมชาติ ทำการเกษตรไม่ได้ผล มีกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำ สร้างอ่างเก็บน้ำ และประตูระบายน้ำจากพรุควนเคร็ง ที่มีสภาพเป็นกรด รวมถึง ผลักดันน้ำเสียที่บำบัดแล้วออกสู่ทะเล โดยปี 2551 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาพื้นที่โครงการฯ เป็นครั้งแรก และมีพระราชดำริในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่เห็นผลสำเร็จ คือ การปรับปรุงดินเปรี้ยวตามทฤษฎีแกล้งดิน ทำให้ปลูกข้าวและทำเกษตรได้
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ด้านพัฒนาสิ่งแวดล้อม สามารถสงวนและอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำให้คงความอุดมสมบูรณ์ บำรุงรักษาพื้นที่ป่าชายเลน สร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ทำแนวกันไฟพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ป่าพรุที่ระดับน้ำลดต่ำลงมาก, ด้านพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้ เน้นบริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำให้เหมาะสมกับการทำเกษตร ใช้งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยเพิ่มผลผลิตสร้างมูลค่า, ด้านประมง มีบ่อทดลองเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลาดุกลำพัน ซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่นป่าพรุ ใกล้สูญพันธุ์ มีศักยภาพเป็นปลาเศรษฐกิจได้ เลี้ยงแหนแดง เป็นอาหารสัตว์ ช่วยลดการใช้สารเคมีและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง มีโรงเรือนเลี้ยงไก่พื้นเมืองอารมณ์ดี พันธุ์ศรีวิชัย พัฒนาสายพันธุ์จากไก่คอล่อนและไก่พื้นเมือง เป็นไก่โตเร็ว หน้าอกแน่น ทนร้อนได้ดี, ด้านการใช้ประโยชน์จากป่าจาก มีพื้นที่ปลูกกว่า 3,000 ไร่ ได้น้ำตาล น้ำหวาน หรือ น้ำผึ้งไซรับ น้ำส้มจาก และน้ำตาลจากชนิดผง วันนี้ มีสาธิตการทำน้ำตาลต้นจาก ขนมและผลิตภัณฑ์จากพันธุ์ข้าวพื้นเมือง หรือ เพิงข้าวปากพนัง และขนมลา ลักษณะคล้ายตาข่าย เป็นขนมไทยโบราณของภาคใต้ ใช้ในงานประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องนุ่งห่ม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ
ปัจจุบัน โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ เป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ดำเนินงานกว่า 2,290,000 ไร่ ครอบคลุมจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา รวม 13 อำเภอ มีศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ช่วยสนับสนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินงานสอดคล้องและเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของตำหนักประทับแรมเฉลิมพระเกียรติ อำเภอปากพนัง ที่ประชาชนลุ่มน้ำปากพนังและจากทั่วประเทศ ร่วมใจกันสร้างขึ้นตามโครงการ "สร้างบ้านให้พ่อ" แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีของชาวไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
โอกาสนี้ ทรงนำคณะฯ เยี่ยมชมประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ นามพระราชทาน หมายถึง "ความสามารถแบ่งแยกน้ำจืด น้ำเค็ม ได้สำเร็จ" เป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้ กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างขึ้น เพื่อป้องกันน้ำทะเลไม่ให้ไหลย้อนเข้าไปในแม่น้ำปากพนัง และระบายน้ำหลากสู่ทะเลในช่วงฤดูฝน มีระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เริ่มใช้งานเมื่อปี 2542 มีช่องระบายน้ำกว้าง 20 เมตร สูง 9 เมตร จำนวน 10 ช่อง ปัจจุบัน มีการบริหารจัดการอย่างสมดุล เอื้ออำนวยให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำปากพนัง เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน
เวลา 15.20 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร "ตลาด 100 ปี ปากพนัง" โดยมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนปากพนัง เป็นมัคคุเทศก์สองภาษา กราบบังคมทูลบรรยายประวัติความเป็นมาของตลาดแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณท่าเรือข้ามฟาก ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปากพนัง เป็นตลาดไม้เก่าแก่ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือราวปี 2445 เคยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำ ในการขนส่งสินค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อาหาร ยารักษาโรค ซึ่งลูกหลานชาวจีนที่บรรพบุรุษได้อพยพมาอยู่อาศัยที่ปากพนัง ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงมีพระเมตตาได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทำให้สามารถสร้างครอบครัว มีฐานะที่มั่นคง โดยได้ร่วมกันจัดตั้ง "ชมรมตลาด 100 ปี ปากพนัง" เพื่อสร้างความสามัคคี พัฒนาชุมชน และอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมให้คนรุ่นหลัง
ในการนี้ ทรงเยี่ยมราษฎรชาวปากพนัง และอำเภอใกล้เคียง ที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ ตลอดสองฝั่งของเส้นทางที่ทรงพระดำเนิน สำหรับตลาดแห่งนี้ มีสถาปัตยกรรมเด่น อายุกว่า 120 ปี เป็นตึกที่มีนกนางแอ่นเข้ามาทำรัง ซึ่งรังนกเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้จนถึงปัจจุบัน สำหรับสินค้าในตลาดส่วนใหญ่ จำหน่ายอาหารทะเลสดและแห้ง สินค้าที่นิยมซื้อเป็นของฝาก ได้แก่ ขนมเปี๊ยะ, ขนมลา, รังนก, จำปาดะ, ส้มโอทับทิมสยาม และลองกอง
จากนั้น ทรงนำคณะฯ เยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงพยาบาลปากพนัง เดิมเป็นสุขศาลา ให้บริการประชาชนตั้งแต่ปี 2471 ต่อมา ได้พัฒนาและขยายขนาด เพื่อรองรับการให้บริการที่เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยปี 2520 ได้รับการยกระดับเป็นโรงพยาบาลชุมชน และพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย ขนาดกลาง 105 เตียง
ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์พายุโซนร้อน "แฮเรียต" พัดถล่มพื้นที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก การสื่อสารและการเดินทางถูกตัดขาด เวลานั้น โรงพยาบาลปากพนัง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางดูแลรักษาผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าทรัพยากรทางการแพทย์จะมีจำกัด แต่บุคลากรของโรงพยาบาลทุกคน ทุ่มเทช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมฟื้นฟูสุขภาพจิต ดูแลผู้สูญเสียบ้านเรือน และญาติพี่น้องจากภัยพิบัติ จากเหตุการณ์นั้น โรงพยาบาลฯ ได้พยายามพัฒนาระบบด้านการจัดการภัยพิบัติ และเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินในอนาคตอยู่เสมอ
ในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทัศนศึกษาสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ในครั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ และทำให้นานาชาติเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของเมืองนครศรีธรรมราช, ประวัติการจัดตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, ผลสำเร็จของการดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และความสำคัญของสถานพยาบาลในการดูแลสุขภาพประชาชน