กกร. พบ ”นายกฯ” มอบสมุดปกขาว เสนอแนวทางแก้เศรษฐกิจ

กกร. พบ ”นายกฯ” มอบสมุดปกขาว เสนอแนวทางแก้เศรษฐกิจ

View icon 78
วันที่ 28 ต.ค. 2567 | 10.51 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กกร. เสนอ นายกฯ ตรึงค่าไฟฟ้า-น้ำมันดีเซล ชงงัดมาตรการภาษี กระตุ้นให้ถูกกลุ่ม เชื่อได้ผลโดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม

วันนี้ (28ต.ค.67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล นำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ในฐานะประธาน กกร.และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และนายสุธีร์ สธนสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงาน กกร. พร้อมมอบ สมุดปกขาว ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศจัดทำโดย กกร. ให้กับนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกัน ไม่ใช่แค่เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียวที่เป็นปัญหา แต่ต้องการหารายได้เข้าสู่ประเทศเพิ่ม จากโอกาสใหม่ๆ  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจโตได้ โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังผลักดันเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ 

ทางด้านนายสนั่น แสดงความเชื่อมั่นรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร แม้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน กำลังเผชิญกับความท้าทายและปัญหาหลากหลายมิติ  กกร.จึงได้ระดมความคิดเห็นจากภาคธุรกิจในสาขาต่างๆ จัดทำเป็นสมุดปกขาวเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง  และ ระยะยาว  รวม 4 ประเด็น ได้แก่  การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ   การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การบริหารจัดการน้ำ และ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เช่น ระยะเร่งด่วน  เสนอมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน ลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ด้วยการควบคุมราคาสินค้าพื้นฐาน และบริการที่จำเป็น ตรึงราคาค่าไฟฟ้า น้ำมันดีเซล รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  โดยเอกชนขอให้เป็นไปตามกลไกของคณะอนุกรรมการไตรภาคี 

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรแยกวิธีให้เหมาะสมและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเป้ากระตุ้นไปยังกลุ่มเปราะบาง ถือเป็นสิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้ว 

สำหรับประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อ สามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะโครงการคูณสอง เพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณมาก

ขณะที่ กลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง สามารถออกมาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอยให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น เช่น มาตรการทางภาษี ที่รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณเลย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง