“กันยา” กลับดาวช้าง หลังป่วย EEHV

“กันยา” กลับดาวช้าง หลังป่วย EEHV

View icon 960
วันที่ 6 พ.ย. 2567 | 08.17 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
น้อง “กันยา” ลูกช้างป่าพลัดหลงจาก จ.บึงกาฬ ล้มแล้ว หลังป่วย EEHV หรือ โรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง ก่อนสเต็มเซลล์ที่จะใช้ในการรักษามาถึงเพียงชั่วนิดเดียว

วันนี้ (6 พ.ย. 67) ทางเพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง ได้โพสต์แจ้งข่าวเศร้าการล้มของน้อง “กันยา” ลูกช้างพลัดหลง ระบุว่า “5 พฤศจิกายน 2567 - 23.31 น. ขอให้ได้ไปวิ่งเล่นอย่างมีความสุขบนดาวช้าง ไม่เจ็บ ไม่ป่วยแล้วนะ เด็กหญิงกันยา”

โดยน้อง “กันยา” ล้มลง เมื่อกลางดึกของคืนที่ผ่านมา หลัง “กันยา” ถูกส่งตัวไปรักษาอาการป่วย EEHV หรือ โรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง ที่โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา หลังเมื่อวานทางโรงพยาบาลแจ้งว่า “กันยา” มีอาการของโรคไวรัส EEHV ชัดขึ้น คือ หน้าบวมมากขึ้น และพบจุดเลือดออกที่ลิ้น ทางคุณหมอจึงพิจารณาให้เพิ่มการรักษาโดยใช้สเต็มเซลล์ โดยจะเป็นการรักษาทางเลือกเพิ่มเติมจากการรักษาหลัก ซึ่งสเต็มเซลล์ 100 ล้านยูนิต จะถูกส่งจากกรุงเทพฯ ไปลำปาง ช่วงกลางดึกที่ผานมา ซึ่งคุณหมอมีกำหนดจะเริ่มฉีดให้ “กันยา” ในวันนี้ (6 พ.ย.67) แต่ก็เกิดเรื่องสุดเศร้า “กันยา” ล้มลงก่อนที่สเต็มเซลล์จะมาถึง

ขณะที่ทาง กัญจนา ศิลปอาชา ซึ่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ได้โพสต์ข้อความว่า “น้องกันยาได้พักแล้วนะคะ น้องสู้ที่สุด ขอหนูสู่ภพที่สูงนะลูก” และ “ขอบคุณทุกคน ทุกฝ่าย ที่ช่วยดูแลเลี้ยงดูน้องกันยา ตั้งแต่วันแรกที่พบเจอน้อง จนถึงวันสุดท้ายของชีวิตน้อง ทุกคนทำดีที่สุดแล้ว เพราะน้องมีควาญอยู่ใกล้ชิด จึงสังเกตเห็นอาการโดยเร็ว และรีบบริหารจัดการช่วยเหลือน้อง แต่น้องมีต้นทุนมาน้อยกว่าคนอื่นเขาถึงจะช่วยกันเต็มที่อย่างไร น้องก็ไม่ไหวค่ะ ตลอดชีวิตน้องที่อยู่ที่ภัทรฟาร์ม ทุกคนก็เห็นแล้วว่าน้องมีครอบครัวที่อบอุ่น ทั้งครอบครัวมนุษย์และครอบครัวช้าง น้องได้ใช้ชีวิตที่มีความสุข เห็นคลิปที่น้องเอางวงกอดแขนพ่อขลุ่ย ในวันสุดท้าย มีการพยักหน้าที่บวม เหมือนน้องจะรู้ตัวว่า จะต้องไปแล้ว ด้วยพลังบวกของทุกคน และพฤติกรรมดีที่น้องทำมาตลอดแม้จะไม่รู้ตัวส่งน้องสู่ภพภูมิที่งดงามแน่นอนค่ะ”

ทั้งนี้ น้อง “กันยา” เป็นลูกช้างป่าพลัดหลงมาเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2567 และได้รับการช่วยเหลือจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ และถูกนำมาเลี้ยงกับช้างแม่รับ “พังโมลา”  ที่ Patara Elephant Farm อ.หางดง จ.เชียงใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง