กรมชลฯ ขอให้เกษตกรทำนาปรังตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

กรมชลฯ ขอให้เกษตกรทำนาปรังตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

View icon 70
วันที่ 13 พ.ย. 2567 | 09.32 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กรมชลประทาน ย้ำวางแผนบริหารจัดการน้ำตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่แต่ละพื้นที่ บางพื้นที่สามารถจัดสรรน้ำให้ทำนาปรังได้ตามแผนที่วางไว้ กระแสข่าวรัฐบาลประกาศให้งดทำนาปรัง เนื่องจากน้ำมีน้อย นั้น ไม่เป็นความจริง

สถานการณ์น้ำ (12 พ.ย. 67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 63,615 ล้าน ลบ.ม. (83% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีปริมาณน้ำใช้การ 39,663 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 21,951 ล้าน ลบ.ม. (88% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีปริมาณน้ำใช้การ 15,255 ล้าน ลบ.ม.

โดยกรมชลประทาน ได้กำชับไปยังโครงการชลประทาน บริหารจัดการน้ำเป็นไปตามลำดับความสำคัญ และปฏิบัติตามมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2567/68 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบ รวมถึงขอความร่วมมือเกษตรกรใช้น้ำตามแผนที่วางไว้ เพื่อลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

สำหรับปริมาณน้ำต้นทุนที่นำมาวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2567/68 นั้น ปริมาณน้ำ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ทั้งประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 44,250 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถใช้ในการวางแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2567/68 ทั้งประเทศได้ประมาณ 10.02 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำต้นทุนรวมกันประมาณ 15,492 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถใช้ในการวางแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง ประมาณ 6.47 ล้านไร่ โดยกรมชลประทาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ให้เกษตกรทำนาปรังตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา มีฝนตกในเกณฑ์น้อย ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำบางแห่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรปลูกพืชฤดูแล้งเฉพาะพืชใช้น้ำน้อยเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตจะขาดน้ำและได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง