ชาวนาเฮ! มีน้ำทำนาปรังกว่า 10 ล้านไร่

ชาวนาเฮ! มีน้ำทำนาปรังกว่า 10 ล้านไร่

View icon 74
วันที่ 13 พ.ย. 2567 | 15.17 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“นฤมล” ลั่น บริหารจัดการน้ำเพียงพอตลอดช่วงแล้งนี้  มีปริมาณน้ำทำนาปรังทั่วประเทศ 10.02 ล้านไร่ เพิ่มจากปีที่แล้ว 1.2 ล้านไร่ ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

วันนี้ (13 พ.ย.67) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  แถลง “แผนจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 67/68”  โดยกรมชลประทาน ได้เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งเพื่อการเพาะปลูก ปี 2567/2568 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567-30 เมษายน 2568 ภาพรวมทั้งประเทศ โดยบริหารจัดการจากปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก รวมทั้งสิ้น 44,250 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล 1 พ.ย. 67) พบว่าปริมาณน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3,863 ล้าน ลบ.ม. และจากปริมาณน้ำดังกล่าวทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกได้อีก 1.2 ล้านไร่ รวมแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศในปีนี้ 10.02 ล้านไร่ ซึ่งวางแผนจัดสรรน้ำฤดูฝน ปี 2568 จำนวน 29,170 ล้าน ลบ.ม. และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝน ปี 2568 จำนวน 15,080 ล้าน ลบ.ม. สำหรับ 4 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) เพื่ออุปโภค-บริโภค 3,050 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 10% จากแผนฯ 2) รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 8,765 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 30% จากแผนฯ3) เพื่อเกษตรกรรม 16,555 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57%จากแผนฯ และ 4) เพื่ออุตสาหกรรม 800 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 3% จากแผนฯ

ขณะนี้ได้จัดสรรน้ำไปแล้ว (ตั้งแต่ 1 พ.ย.67 – 12 พ.ย. 67) 991 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็น 4% จากแผนฯ คงเหลือที่ต้องจัดสรรอีก 28,179 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น96% จากแผนฯ) ปัจจุบัน (ข้อมูล 12 พ.ย. 67) มีปริมาณน้ำเก็บกัก 63,908 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำใช้การ 39,922 ล้าน ลบ.ม. และคาดการณ์ว่า 1 พ.ค. 68 จะมีปริมาณน้ำเก็บกัก 44,032 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำใช้การ 20,489 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอที่จะบริหารจัดการเพื่อการเกษตรจนสิ้นสุดฤดูแล้งนี้

“จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ในบางพื้นที่เกษตรกรสามารถทำนาปรังต่อเนื่องจากนาปีได้ ตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 พ.ย. 67 ไปแล้วกว่า 0.75 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 0.55 ล้านไร่ โดยใช้ประโยชน์จากน้ำช่วงน้ำหลากในการเพาะปลูก ขณะที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้แล้วเสร็จก่อนแผนที่วางไว้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปรังได้เร็วยิ่งขึ้น ช่วยให้การปรับปฏิทินการเพาะปลูกมีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับการเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลากในปีถัดไป” นางนฤมล กล่าว

นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุ นางนฤมล ได้กำชับให้การบริหารจัดการน้ำในทุกพื้นที่สอดคล้องกับสถานการณ์  เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสนับสนุนทุกกิจกรรมไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ แม้ในปีนี้จะเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ยังบริหารจัดการกักเก็บน้ำได้ในปริมาณมาก และวางแผนจัดสรรสำหรับเพาะปลูกช่วงฤดูแล้งได้อย่างเพียงพอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง