“พีระพันธุ์’ ผุดไอเดียแปลงพลังน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

“พีระพันธุ์’ ผุดไอเดียแปลงพลังน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

View icon 90
วันที่ 20 ธ.ค. 2567 | 15.11 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“พีระพันธุ์” อยากให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก ผุดไอเดียแปลงพลังน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

จากการลงพื้นที่ภาคใต้ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดชุมพร สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช  เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา  นายพีระพันธุ์ได้เปิดเผยถึงวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนอีกแนวทางหนึ่ง นั่นคือ การแปลงพลังงานน้ำให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะช่วยชะลอกระแสน้ำไม่ให้สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนแล้ว  ความแรงของกระแสน้ำยังสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าในต้นทุนต่ำเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าของครัวเรือน และยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรได้ด้วย
.
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า  จากการไปตรวจเยี่ยมและพบปะประชาชนครั้งนี้ ตนเห็นว่าในบางพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากและไหลแรงสามารถนำกระแสน้ำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้ในการเพาะปลูก อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมีต้นทุนถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติหลายเท่า โดยตนได้มอบหมายให้ทางพลังงานจังหวัดศึกษาข้อมูลรายละเอียดและประสานงานกับส่วนกลางเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป
.
“จากการที่ผมได้ไปตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ บ้านห้วยน้ำเน่า อ.สิชล ผมก็ได้แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกวิธีหนึ่ง   พื้นที่ตรงนั้นมีปริมาณน้ำเยอะและไหลแรง  แต่ผมไม่ได้เห็นเป็นน้ำ ผมเห็นเป็นไฟฟ้า  ผมเลยคิดว่าตรงนี้น่าจะทําเป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กให้ชาวบ้าน  ซึ่งจะช่วยชะลอน้ำเวลาถึงฤดูน้ำหลาก และยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร  ขณะเดียวกัน แรงของน้ำที่ไหลผ่านยังสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างน้อย 2 เมกะวัตต์  ซึ่งสามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้ประมาณ 400 ครัวเรือน  และจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าหลัก ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เพราะผลิตจากก๊าซ  ขณะที่ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำอยู่ที่ประมาณ 1 บาทกว่า ๆ เท่านั้น ผมกำลังให้กระทรวงพลังงานรวบรวมข้อมูลและศึกษาความเป็นไปได้เพื่อจัดทำเป็นโครงการต้นแบบในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกแนวทางหนึ่ง” นายพีระพันธุ์กล่าว