เฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่-ปอดอักเสบจากไวรัส RSV  แนวโน้มเพิ่มขึ้น

เฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่-ปอดอักเสบจากไวรัส RSV แนวโน้มเพิ่มขึ้น

View icon 535
วันที่ 14 ม.ค. 2568 | 15.44 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หลายกลุ่มโรคต้องระวัง ไข้หวัดใหญ่แนวโน้มเพิ่มขึ้น ปี 67 ป่วย 6.6 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่า 1.3 เท่า เสียชีวิต 51 คน ปอดอักเสบจากไวรัส RSV พบผู้ป่วยกว่า 8 พันคน

วันนี้ (14 ม.ค.68) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ในฐานะโฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าวถึงหลายกลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่

ไข้หวัดใหญ่ ในปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 668,027 ราย สูงกว่าปี 2566 ประมาณ 1.39 เท่า กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มเด็กเล็ก และวัยเรียน ผู้เสียชีวิต 51 ราย เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป การระบาดส่วนใหญ่พบในโรงเรียน เรือนจำ วัด ศูนย์ฝึกอบรมฯ และค่ายทหาร ซึ่งในปี 2568 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เน้นย้ำให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบเด็กป่วย และเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ

ไข้เลือดออก ในปี 2567 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงจากปี 2566 ประมาณ 0.7 เท่า โดยมีผู้ป่วย 105,250 ราย ผู้เสียชีวิต 114 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเรียน และอัตราป่วยตายสูงในกลุ่มวัยทำงาน โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 ผู้ป่วยจะลดลง

โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส RSV ในปี 2567 ผู้ป่วยสะสม 8,218 ราย พบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และเริ่มพบมากขึ้นในผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้นไป จากการเฝ้าระวังเชื้อไวรัส RSV ในผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และกลุ่มอาการปอดอักเสบจากโรงพยาบาลเครือข่ายของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.66 – 31 ธ.ค.67 พบว่า พบเชื้อ RSV มากในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง พฤศจิกายน โดยสายพันธุ์หลักที่พบในปี 2566 เป็นสายพันธุ์ RSV A และในปี 2567 เป็นสายพันธุ์ RSV B

โรคไข้หูดับ สถานการณ์โรคไข้หูดับ (ไข้หมูดิบ) ในประเทศไทยจากรายงาน 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2562 – 2566) พบจำนวนผู้ป่วยเฉลี่ย 461 ราย และผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 22 ราย ปี 2567 พบจำนวนผู้ป่วย 956 ราย และผู้เสียชีวิต 59 ราย วันที่ 1 ม.ค.2568 ถึง ปัจจุบัน พบผู้ป่วยเสียชีวิต 1 คน และอาการรุนแรง 1 คน ใน จ.บุรีรัมย์ ผู้เสียชีวิตพบมากในกลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ผู้เสียชีวิตมีประวัติติดสุราร่วมด้วย 

โรคจากต่างประเทศ ที่กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ได้แก่ โรคติดเชื้อ ฮิวแมน เมตานิวโมไวรัส                      หรือ hMPV เป็นไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจที่มีมานานแล้วไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโควิด 19  สามารถพบผู้ป่วยได้ประปรายตลอดทั้งปี มักพบผู้ป่วยในช่วงฤดูฝนและเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว ทั้งนี้ ในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค. 66 – 31 ธ.ค.67 พบผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อ hMPV 545 ราย จากจำนวนตัวอย่าง 15,299 พบมากที่สุด ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รองลงมาคืออายุ 5-9 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป

วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (World NTD Day) สมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 74 กำหนดให้วันที่ 30 มกราคม ของทุกปี เป็นวันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบอันเลวร้ายของโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย รวมถึงสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการกวาดล้างโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย โดยโรคเขตร้อน (Neglected tropical disease) คือ โรคที่พบมากในกลุ่มประเทศเขตร้อน ซึ่งสวนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาทำให้ไม่ได้รับความสนใจมากนัก ซึ่งโรคที่พบในไทย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้มาลาเรีย โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน วัณโรค โรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงโรคพยาธิต่าง ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง