ข่าวเย็นประเด็นร้อน - หลังจากเมื่อวาน กสทช. เรียก บริษัท OPPO และ Realme เข้าชี้แจงกรณีการติดตั้งแอปพลิเคชันกู้เงินในโทรศัพท์มือถือ โดยที่ผู้ใช้งานไม่สามารถลบออกเองได้ ล่าสุด วันนี้ ถึงคิวของ สคบ. เรียกทั้ง 2 บริษัทเข้าชี้แจงอีกครั้ง แม้ล่าสุด แอปฯ กู้เงินดังกล่าวจะประกาศหยุดให้บริการแล้วก็ตาม
แอปฯ กู้เงินหยุดให้บริการ - 2 ค่ายโทรศัพท์มือถือขอโทษ
ทนกระแสสังคมไม่ไหว แอปพลิเคชัน Fineasy ประกาศหยุดให้บริการแล้ว ถ้าใครมีแอปฯ นี้ติดตั้งในโทรศัพท์มือถือ กดเข้าไปหน้าแรกจะปรากฏข้อความ "เรียนผู้ใช้ เราเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแจ้งให้ทราบว่า เนื่องจากมีการปรับปรุงทางธุรกิจ ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2568 เป็นต้นไป เราจะหยุดให้บริการทั้งหมด"
ขณะที่เมื่อคืนนี้ ช่วงเวลา 02.00 น. ทาง OPPO และ Realme ออกแถลงการณ์ ขออภัยอย่างยิ่งต่อความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้งานบางแอปพลิเคชันในช่วงที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โทรศัพท์ใหม่ที่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาการติดตั้งแอปพลิเคชัน Fineasy ล่วงหน้าจะไม่ถูกจำหน่ายอีกต่อไป และตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนจะได้รับการอัปเดต เป็นเวอร์ชันระบบใหม่ที่ไม่มีการติดตั้งแอปฯ Fineasy อีกต่อไป และตั้งแต่วันที่ 14 มกราคมเป็นต้นไป จะหยุดการติดตั้งแอปฯ ล่วงหน้าในอุปกรณ์ของ OPPO
คุยไม่เคลียร์ ดีอีเรียก 2 ค่ายมือถือแจงเพิ่ม
ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เรียก บริษัท OPPO และ Realme ชี้แจงเรื่องแอปพลิเคชันกู้เงินว่า การชี้แจงของเขายังตอบไม่เคลียร์
ซึ่งตนจะเรียก กสทช. เข้ามา เพื่อสอบถามดูว่ามีประเด็นไหนที่ยังค้างอยู่บ้าง เท่าที่ได้ติดตามดูการเข้าชี้แจงของทั้ง 2 บริษัทกับ กสทช. ดูเหมือนจะไม่ค่อยเคลียร์ต้องมีการมาให้รายละเอียดเพิ่มเติม
แต่ประเด็น คือ การลงแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันนี้ยังไม่มีความชัดเจนที่จะเข้าไปกำกับดูแล ดังนั้นต้องเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ และหลังจากนี้กระทรวงดีอีต้องแจ้งยังประเทศต้นทาง เพราะแอปฯ ดังกล่าวไม่ใช่แอปพลิเคชันพื้นฐานตามปกติ นอกจากนี้ตนจะไปดูเรื่องความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ว่าการติดตั้งแอปพลิเคชันดังกล่าวเป็นการรบกวนประชาชนหรือไม่ และต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่
สคบ.เรียก 2 ค่ายมือถือแจงปมแอปฯ กู้เงิน
ส่วนวันนี้ (14 ม.ค 68) เวลา 14.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้เชิญตัวแทนของบริษัทจำหน่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ OPPO และ Realme มาชี้แจงในประเด็นมีแอปพลิเคชันกู้เงินในโทรศัพท์
หลังการหารือ นายอนุพงษ์ เจริญเวช ผู้อำนวยการฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก (สคบ.) เปิดเผยว่า ตัวแทนทั้ง 2 บริษัทให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แต่เลี่ยงจะตอบคำถามบางประเด็น ซึ่งยังไม่ได้ข้อมูลเชิงลึก ซึ่งข้อมูลในวันนี้จะนำไปประชุมร่วมกับ นางสางจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ (15 ม.ค.)
สำหรับความเสียหายและข้อมูลผู้ลงทะเบียนแอปพลิเคชัน Fineasy และสินเชื่อความสุข มีตัวเลขเท่าไหร่ ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อมูลจากทั้ง 2 บริษัท แต่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาที่ สคบ. แล้ว 9-10 คน ยังไม่เกิดความเสียหายในการใช้แอปฯ กู้ยืมเงิน แต่มีความกังวลเรื่องการรั่วไหลข้อมูลส่วนบุคคล สคบ. ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว ส่วนที่มีผู้เสียหายกู้เงินผ่านแอปฯ ดังกล่าว ส่วนนี้สามารถไปดำเนินคดีทางอาญาได้ หากมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือทวงถามผิด พ.ร.บ.ทวงหนี้ ก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนได้
แบงก์ชาติ ชี้ช่องเอาผิดอาญาแอปฯ กู้เงิน
ด้าน พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบและกำกับดูแลพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ สคส. เปิดเผยว่า ช่วงเช้าวันนี้ (14 ม.ค.) ได้หารือร่วมกับตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแบงก์ชาติให้ข้อมูลว่า การกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้รับอนุญาตจากแบงก์ชาติ แม้แบงก์ชาติจะไม่มีบทลงโทษ แต่สามารถเอาผิดตามกฎหมายอาญา เนื่องจากการเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดได้
รวมถึงประเด็นที่แอปพลิเคชันดังกล่าวสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภค และยิงแอดโฆษณาเข้ามาโดยไม่ได้รับความยินยอม ถือว่าผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ซึ่งในส่วนนี้สภาองค์กรผู้บริโภคแจ้งว่ามีผู้เสียหายจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่ชัดได้ ซึ่งมีการร้องเรียนเข้ามาเรื่อย ๆ และจะนำผู้เสียหายไปแจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. ต่อไป
เหยื่อ “สินเชื่อความสุข” กู้ 5 หมื่นบาท ต้องจ่าย 7 แสนบาท
ล่าสุด มีหญิงผู้เสียหายรายหนึ่งตกเป็นเหยื่อหลงเข้าไปกู้เงินผ่านแอปฯ สินเชื่อความสุข ที่เด้งแจ้งเตือนให้โหลดในโทรศัพท์มือถือ โดยเข้าไปกู้เงินจากหลายบริษัท กู้บริษัทละ 10,000 บาท แต่ได้รับเงินจริงเพียง 6,000-6,500 บาท ครั้งแรกกู้มารวม 50,000 บาท แต่ได้เงินแค่ 30,000 กว่าบาท ผ่านไปแค่ 2 เดือน ยอดกู้และดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 700,000 บาท พอหาเงินมาจ่ายไม่ได้ก็ข่มขู่จะทำร้ายร่างกาย จนเกือบจะคิดสั้นฆ่าตัวตาย สุดท้ายญาติและเพื่อน ๆ ยอมให้ยืมเงินก้อนมาปิดหนี้ทั้งหมด รวมเงินประมาณ 700,000 บาท