โรคข้าวผัด ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรีย

โรคข้าวผัด ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรีย

View icon 644
วันที่ 17 ม.ค. 2568 | 12.36 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
โรคข้าวผัด ภาวะอาหารเป็นพิษจากเชื้อแบคทีเรีย อาหารปรุงสุกทิ้งไว้นอกตู้เย็นนานเกิน 2 ชม.ขึ้นไป เสี่ยงท้องเสีย อาเจียน เด็ก คนแก่ มีโรคประจำตัวอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด

วันนี้ (17 ม.ค.68) นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงโรคข้าวผัด (Fried Rice Syndrome) มีสาเหตุหลักจากเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซีเรียส ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่พบในดินที่ก่อโรคชนิดหนึ่ง เจริญเติบโตได้ดีทั้งในสภาพมีและไม่มีอากาศ ส่วนใหญ่การปนเปื้อนมักเกิดจาก “สปอร์” ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ สามารถพบได้ในผักและเนื้อสัตว์ปรุงสุกที่เก็บรักษาไม่ถูกวิธี

หากรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคชนิดนี้จำนวนมากจะทำให้เกิดอาการท้องเสียและอาเจียน โดยทั่วไปอาการเจ็บป่วยดังกล่าวจะสามารถหายเองได้ภายใน 2-3 วัน แต่ในผู้ที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรที่จะพบแพทย์ เนื่องจากอาจมีแนวโน้มนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจทำให้เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรืออาจมีผลกระทบเรื้อรัง เช่น เป็นโรคข้ออักเสบ เป็นต้น

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรคข้าวผัด คือ กลุ่มอาการอาหารเป็นพิษที่เกิดจากการรับประทานอาหารปรุงสุกบางชนิดที่จัดเก็บผิดวิธี เช่น การเก็บนอกตู้เย็น จนทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตในอาหารเหล่านั้น โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าวและพาสต้า รวมถึงเมนูข้าวผัด ที่เสี่ยงเป็นภัยเงียบจากเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว จนมีการตั้งชื่อภาวะโรคนี้ว่า โรคข้าวผัด เนื่องจากการปรุงอาหารไม่ดี สุกไม่ทั่วกัน เพราะความร้อนไม่ถึง หรือขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบที่ไม่ถูกสุขอนามัย รวมทั้งการเก็บรักษาที่ไม่ดีหลังปรุงสุก

ผศ.(พิเศษ) นพ.พจน์ อินทลาภาพร หัวหน้างานโรคติดเชื้อ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า  เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซีเรียส สามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ 1.ชนิดที่ทําให้ท้องร่วง (diarrhea toxin) ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการท้องร่วง คลื่นไส้ ปวดท้อง และท้องร่วงเป็นน้ำ ระหว่าง 8 ถึง 16 ชั่วโมงหลังจากรับประทาน โดยเกี่ยวข้องกับลําไส้เล็กส่วนล่าง 2.ชนิดที่ทําให้อาเจียน (emetic toxin) อาการของพิษจะมีอาการร้ายแรงและเฉียบพลัน ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการคลื่นไส้ และอาเจียน ภายใน 1 ถึง 6 ชั่วโมงหลังรับประทาน โดยเกี่ยวข้องกับลําไส้เล็กส่วนบนเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี โรคที่เกิดจากเชื้อชนิดนี้ไม่สามารถติดต่อกันได้

การเก็บรักษาอาหารให้เหมาะสมเพื่อป้องกันโรคข้าวผัด 1.อาหารปรุงสุกที่รับประทานเหลือและอยากเก็บไว้รับประทานต่อ ต้องเก็บรักษาในตู้เย็นทันที 2.หากเผลอวางอาหารไว้ในอุณหภูมิห้อง นานกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป ควรอุ่นอาหารร้อนอีกครั้ง จากนั้นค่อยนำไปเก็บในตู้เย็น 3.อาหารปรุงสุกที่อยากเก็บบางส่วนไว้รับประทานในวันต่อ ๆ ไป ให้แบ่งส่วนนั้นเก็บแช่เย็นทันที โดยไม่ต้องรอให้เย็นสนิท แต่หากปล่อยไว้นานเกิน 4 ชั่วโมงขึ้นไปไม่ควรเก็บใส่ตู้เย็นและไม่ควรรับประทาน