เรียกร้องความเป็นธรรม ณวัฒน์-ปานเทพ นำมิสแกรนด์ 77 จังหวัด ยื่นร้อง "ดีเอสไอ" ขอให้รับคดี "แตงโมเสียชีวิต" เป็นคดีพิเศษ หลังพบข้อพิรุธ เงื่อนงำการตาย ยังห่วงหลักฐานถูกทำลาย ขณะที่ ยธ. รับปากดำเนินการไม่ล่าช้า 1 เดือนทวงถามได้
วันนี้ (20 ม.ค.68) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายณวัฒน์ อิสรไกรศีล นำสาวมิสแกรนด์ 2025 ทั้ง 77 จังหวัด พร้อมด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต, นายแพทย์ธวัชชัย กาญจนรินทร์ อดีตศัลยแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องให้ดีเอสไอตรวจสอบการเสียชีวิตของ น.ส.ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม เพื่อคืนความยุติธรรมอย่างโปร่งใส และขอให้รับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากพบข้อพิรุธ และเงื่อนงำการเสียชีวิต โดยมี นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นผู้รับเรื่อง
นายณวัฒน์ กล่าวว่า วันนี้ตัวแทนมิสแกรนด์ไทยแลนด์ทั้ง 77 จังหวัด ยื่นเรื่องขอให้ดีเอสไอ ช่วยรับเรื่องดังกล่าวไว้สอบสวนอีกครั้งเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้สังคมไทยได้ข้อสรุปที่แท้จริง ซึ่งการมายื่นเรื่องร้องขอในครั้งนี้นอกจากจะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตแล้ว ส่วนสำคัญที่สุดคือแสดงถึงความมีมาตรฐานการใช้กฎหมายในประเทศไทย รวมถึงความโปร่งใสในวงการตำรวจ หากการบังคับใช้กฎหมายมีความยุติธรรมและเท่าเทียมกันทุกคน เรายังคงเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมผ่านดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรม สุดท้ายจะเป็นที่พึ่งที่มีมาตรฐานและความยุติธรรมในทุก ๆ กรณี
ด้าน นายปานเทพ กล่าวว่า ตอนนี้เราห่วงเรื่องเวลา กังวลในส่วนของข้อเท็จจริงบางประการ เช่น พยานหลักฐานต่าง ๆ จะถูกทำลายไปก่อนหรือไม่ และเมื่อใดจะเเล้วเสร็จ จะรวบรวมเสร็จ สอบสวนเสร็จ แล้วเมื่อใดจะนำไปสู่เลขคดีพิเศษ ยังไม่นับรวมชี้มูลผิดหรือไม่ผิด แต่หลายท่านในดีเอสไอเป็นตำรวจเก่ามาก่อน สิ่งที่เรากังวลคือกระบวนการที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือตำรวจ ถ้ารับเรื่องไปเฉย ๆ แล้วไม่กำหนดเวลา แล้วไม่สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงได้ พลังผู้หญิงที่มาในวันนี้คงจะผิดหวัง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าในวันข้างหน้าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีกกี่ครั้ง ขอให้ดีเอสไอรับปากว่าจะทำคดีอย่างตรงไปตรงมาและรวดเร็ว
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ในฐานะผู้แทนของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม วันนี้เรายินดีที่ท่านเดินทางมา เรายินดีรับทุกเรื่องของพี่น้องประชาชนที่จะช่วยได้ ซึ่งเรื่องของท่านก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่พร้อมจะดำเนินการ และกระบวนการกฎหมายได้ไปถึงชั้นศาล มี 2 จำเลยรับสารภาพ ส่วนจำเลยอีก 4 ราย ศาลนัด 29 ม.ค.นี้ ซึ่งตามกระบวนการแล้วท่านยังมีสิทธิ์ร้องเพราะเป็นคดีอาญาแผ่นดินที่ประชาชนร้องได้ แต่กระบวนการของดีเอสไอที่จะรับเป็นคดีพิเศษนั้น หากเข้าลักษณะเป็นคดีพิเศษ จะมีคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณาว่าเรื่องใดเป็นเรื่องที่ดีเอสไอควรรับเป็นคดีพิเศษ ทั้งนี้ ยืนยันว่ากระบวนการของดีเอสไอ อยู่ระหว่างดำเนินการในคดีอาญา จึงไม่สามารถแถลงได้ตอนนี้
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ขอให้ความมั่นใจว่าทุกคำพูดของท่าน จะส่งถึง รมว.ยุติธรรม ไม่ตกแม้แต่ประโยคเดียว และในการดำเนินการนั้น อาจเป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือใดๆ ก็ตาม ตนในฐานะที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม จะเร่งรัดทำให้เร็วที่สุด รับปากได้เลยว่าจะไม่ล่าช้า ขออย่ากังวลเรื่องระยะเวลา หรือภายใน 1 เดือนก็สามารถมาทวงถามได้ นอกจากนี้ ในวันที่ 22 ม.ค.นี้ ขอให้รวบรวมพยานกี่รายก็ตาม หรือรูปภาพต่าง ๆ นำมามอบให้ดีเอสไอ
ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า จะทำการใดต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย โดยเรามี 3 ขั้นตอน คือ การตรวจสอบรวบรวมข้อมูล การสืบสวนแสวงหาพยานหลักฐาน และสอบสวนเป็นคดีพิเศษ ตอนนี้เป็นเพียงแค่ชั้นแรก ต้องรวบรวมข้อมูลจนกว่าจะชัดเจนว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง อีกทั้งในส่วนของการรื้อฟื้นคดี จะทำได้หรือไม่นั้น ต้องนำมาพิจารณาก่อนว่ากฎหมายเปิดช่องให้จำเลย หรือแพะ หรือผู้ร้องที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม อาจจะมีการเบิกความเท็จ การนำพยานหลักฐานเท็จเข้ามาหรือไม่ อย่างไร และยังมีเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ซึ่งต้องเกิดขึ้นก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ต้องมีขั้นตอนว่าจำเลยเสียเปรียบหรือไม่ จึงต้องย้ำว่าในชั้นนี้กฎหมายเปิดช่องให้เราทำอะไรได้บ้าง ทั้งนี้ ยินดีดำเนินการให้ความเป็นธรรมในระยะเวลาอันรวดเร็ว อาจไม่ถึงปี ประมาณ 3-6 เดือนก็ได้ทราบความคืบหน้า
ขณะที่ พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่า เบื้องต้นกระบวนการของเราจะเน้นไปที่นิติวิทยาศาสตร์ การรวบรวมพยานหลักฐาน เพราะเรามีมาตรการพิเศษ ในการรวบรวมเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่วันนี้คือจุดเริ่มต้น เนื่องจากเราได้ไปสังเกตการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดูว่าจะมีอำนาจในการดำเนินการในส่วนใดได้บ้าง
ต่อมาเวลา 17.35 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เดินทางมารับเรื่องด้วยตัวเอง พร้อมเปิดเผยว่า คดีนี้มีส่วนหนึ่งอยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่ตำรวจสอบสวน และอยู่ในการพิจารณาคดีของศาล โดยหลักการถ้าจะสอบสวนรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่มีพระราชบัญญัติรื้อฟื้นคดีอาญา ซึ่งต้องเป็นคดีเด็ดขาด ส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลหากมีประเด็นที่สำคัญจะอยู่ในอำนาจของอัยการ หากเป็นเรื่องมีการกล่าวหาหรือมีการยืนยันตัวบุคคลใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในสำนวนเลย หรือมีการกล่าวหาขึ้นมาใหม่จะมีอำนาจสอบสวนได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ และทราบว่ากระบวนการยุติธรรมทั้งศาลและอัยการได้ดำเนินการอยู่ ในส่วนของดีเอสไอขณะนี้คือการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนตามที่ได้มีการมาร้องเรียน หากมีความจำเป็นจะตั้งเลขสืบสวน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน เมื่อมีการตั้งเรื่องสืบสวนและพบข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นจะตั้งเป็นสอบสวนและมีการสอบสวน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวในคดีที่มีคนตายจะมีอยู่หลักอยู่ 3 หลัก คือ 1.หลักเทคนิคการสืบสวนสอบสวน ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้รวบรวมหลักฐาน 2. การตรวจพิสูจน์ และ3.ต้องชอบด้วยกฎหมาย ในเคสลักษณะนี้หากดีเอสไอทำการตรวจสอบจะให้ผู้เชี่ยวชาญที่ขึ้นบัญชีไว้กับศาล ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแพทย์นิติเวช หน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมจะต้องทำความจริงให้ปรากฏ หลังจากรับเรื่องได้ส่งมาให้ดีเอสไอตรวจสอบ เนื่องจากมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ในกระบวนการทั้งหมดจะต้องให้อยู่ในพยานหลักฐาน ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ แต่ในกฎหมายไทยมีพยานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเรื่องนี้อาจจะต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญด้วย