เวลา 10.50 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ทรงเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ ของสมาชิกองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 45 ซึ่งองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนานักเรียน นักศึกษาอาชีวะเกษตร ให้เรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตร พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และฝึกฝนให้เป็นคนดีของสังคม เพื่อประโยชน์แก่สมาชิกองค์การฯ สังคม และวงการเกษตรกรรมของประเทศ โดยนำผลงานของสมาชิกปัจจุบัน และศิษย์เก่า มาจัดแสดงเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เครือข่ายภาคเอกชน ชุมชนท้องถิ่น มาร่วมจัดกิจกรรม เพื่อให้ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางการเกษตร อันจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพในอนาคต
จากนั้น ทรงเปิด "อาคารศรีกาหลง" ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริม สนับสนุนการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของวิทยาลัยฯ เพื่อประสิทธิภาพทางการศึกษา แล้วทรงปลูกต้นหมากพลูตั๊กแตน ต้นไม้ประจำจังหวัดสตูล เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่วิทยาลัยฯ
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการของนักเรียน นักศึกษา ที่นำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางการเกษตร ที่ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีเฉพาะทาง ให้เกิดการต่อยอดเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ และที่เป็นภูมิปัญญาไทย อาทิ โครงการ "ต้นแบบศูนย์การเรียนรู้บริหารจัดการปริมาณน้ำด้วย Platform AI และพลังงานสะอาด แบบ Real Time ที่ฝายทดน้ำ ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล" เพื่อพัฒนาระบบการส่งจ่ายน้ำในภาคเกษตรกรรม ที่หมู่ 10 บ้านห้วยน้ำดำ ตำบลควนกาหลง มีผู้ได้รับประโยชน์ 50 ครัวเรือน 1,400 คน ใช้พลังงานสะอาดจากระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ผ่านระบบสำรองพลังงาน และใช้นวัตกรรม Platform AI ควบคุมประตูระบายน้ำ ฝายทดน้ำห้วยน้ำดำ แบบอัตโนมัติ ช่วยให้มีน้ำใช้พอเพียงในหน้าแล้ง, ศูนย์การเรียนรู้ระบบสมาร์ตฟาร์ม สำหรับเกษตรกรและประชาชน ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล กับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เพื่อหาแนวทางพัฒนาภาคเกษตรอย่างยั่งยืน คือ แก้ไขที่ต้นเหตุ ให้เกษตรกรนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาบริหารจัดการโรงเรือนปลูกผัก และโรงควบคุมระบบ เช่น กล้องตรวจสอบการให้น้ำ และเครื่องทดสอบอุณหภูมิและความชื้นในดิน, นิทรรศการ "ไข่แสดอุดร" ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี มีการปรับปรุงคุณภาพไข่ ด้วยการเสริมวิตามิน หรือพัฒนาให้ไข่แดงสีเข้มขึ้น ด้วยการเสริมสารสี และวิตามินสังเคราะห์ โดยใช้น้ำมันปาล์มดิบ ที่มีวิตามินเอ และดอกทองกวาวผงเป็นแหล่งของสารสีและวิตามินธรรมชาติ ทดแทนการใช้สารสีและวิตามินสังเคราะห์ในการเลี้ยงไก่ไข่, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครศรีธรรมราช เรื่อง โกโก้ บลิส แอท นคร (Cocoa bliss @ Nakhon) เพิ่มมูลค่าผลโกโก้สด ที่มีราคากิโลกรัมละ 10 บาท เมื่อแปรรูปเป็นเมล็ดโกโก้หมักและตากแห้ง กิโลกรัมละ 600 บาท โกโก้ผง กิโลกรัมละ 1,000 บาท โดยสร้างองค์ความรู้และการวิจัยการหมักเมล็ดโกโก้ด้วยจุลินทรีย์ยีสต์ และจุลินทรีย์ธรรมชาติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชนและอุตสาหกรรม เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้ชุมชน, การนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรนำไปต่อยอดสร้างรายได้ เช่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน นำถั่วแระญี่ปุ่น ที่มีโปรตีนสูง มาทำน้ำนมถั่วแระญี่ปุ่นผสมข้าวกล้องงอก, ผงถั่วแระนำไปประกอบอาหาร และปุ๋ยชีวภาพผสมเศษถั่วแระ, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกำแพงเพชร นำเนื้อตาลโตนดสุกมาอบแห้งเป็นผงคล้ายแป้ง นำไปทำขนม หรือเค้กได้สะดวก, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุทัยธานี เพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำพื้นถิ่น โดยแปรรูปเป็นคุกกี้ปลาแรด ที่มีโปรตีนสูงกว่าคุกกี้เนย ถึงร้อยละ 59 และเส้นพาสต้ากึ่งสำเร็จรูปเสริมแคลเซียมด้วยผงก้างปลาแรด ผลงานวิชาการเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ให้เกษตรกรนำไปต่อยอดการประกอบอาชีพในอนาคต และเปิดประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้สมาชิกองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยฯ เป็นตัวอย่างในการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อชุมชนต่อไป