วัยรุ่นเมืองกรุง เสี่ยงโรคทางเพศเพิ่ม! ป่วยซิฟิลิสกว่า 3 พัน

วัยรุ่นเมืองกรุง เสี่ยงโรคทางเพศเพิ่ม! ป่วยซิฟิลิสกว่า 3 พัน

View icon 10.0K
วันที่ 11 ก.พ. 2568 | 13.52 น.
เกาะกระแสออนไลน์
แชร์
ซิฟิลิสพุ่ง ! วัยรุ่นเมืองกรุง ทุบสถิติจังหวัดมีผู้ป่วยเยอะที่สุดกว่า 3,677 คน ไขคำตอบ ติดแล้วหายได้หรือไม่ - วิธีป้องกันอย่างไร ?

ช่วงเทศกาลวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ "วันวาเลนไทน์" สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ออกมาเปิดเผยข้อมูลเตือนใจวัยรุ่น หลังสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กลายเป็นปัญหาสำคัญของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากปัจจุบันพบผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกรุงเทพฯ ถึง 10,879 คน เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 59 ที่พบอัตราป่วย 47.35 ต่อแสนประชากร เป็น 96.87 ต่อแสนประชากร ในปี 67 สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระดับประเทศ 57.12 ต่อแสนประชากร โดยโรคที่พบมากที่สุดคือ ซิฟิลิส 3,677 คน หรืออัตราป่วย 50.999 ต่อแสนประชากร

ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน อายุ 15-24 ปี และกรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคซิฟิลิสมากที่สุด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นเยาวชนและกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า "โรคซิฟิลิส" กำลังระบาดในกลุ่มวัยรุ่น แต่รู้หรือไม่ว่าโรคนี้สามารถเป็นได้ทุกวัย เด็กแรกเกิดก็อาจติดจากแม่ได้ มาเคลียร์ทุกข้อสงสัยเรื่อง "โรคซิฟิลิส" เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วจะมีวิธีป้องกันอย่างไร

โรคซิฟิลิส (Syphilis) คืออะไร ?

โรคซิฟิลิส (Syphilis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) ซึ่งเชื้อแบคทีเรียนี้จะอยู่ในเลือดและสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงในน้ำลายด้วย การดำเนินโรคในขั้นต้นโดยทั่วไปจะเริ่มจากบาดแผล ซึ่งมักพบบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะของแผลจะเป็นแผลที่ไม่รู้สึกเจ็บ ซึ่งโรคซิฟิลิสอาจเป็นปัญหาที่ตรวจพบได้ยาก เนื่องจากหลังได้รับเชื้อแล้ว เชื้อแบคทีเรียสามารถหลบซ่อนตัวอยู่เงียบ ๆ ภายในร่างกายเราได้เป็นเวลาหลายปีก่อนที่จะมีอาการแสดงขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งหากไม่รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ ส่งผลต่อระบบประสาท หัวใจ สมอง ระบบต่างๆ ของร่างกาย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

โรคซิฟิลิสติดต่อได้อย่างไร?

การแพร่กระจายเชื้อซิฟิลิสสู่ผู้อื่นสามารถเกิดได้ผ่านทางการสัมผัสโดยตรงกับแผลผู้ป่วย หรือสัมผัสกับสารคัดหลังต่าง ๆ  เช่น ทางปากผ่านการจูบ มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใส่ถุงยางอนามัย และรวมถึงการทำรักด้วยปาก ออรัลเซ็กส์ (Oral sex) ก็จะทำให้ติดเชื้อได้

ส่วนกรณีติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด จากแม่สู่ลูกน้อยในครรภ์ นับการเป็นติดเชื้อที่รุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังสามารถส่งผลให้มีอาการหูหนวก ตาบอด มีความผิดปกติทางโครงสร้างต่าง ๆ รวมถึงความผิดปกติทางระบบประสาทในเด็กได้

อาการของโรคซิฟิลิส

ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้อแบคทีเรีย จะมีการดำเนินของโรคเป็นระยะ แต่ละระยะจะมีอาการต่างกันไป ซึ่งจะประกอบไปด้วย ระยะของโรคดังนี้

-ระยะที่ 1 มีตุ่มเล็กๆ แตกเป็นแผลมีน้ำเหลือง
-ระยะที่ 2 มีไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือทั่วร่างกาย
-ระยะที่ 3 ระยะแฝง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงใด ๆ
-ระยะที่ 4 เชื้อเข้าไปทำลายระบบสมอง และอวัยวะต่าง ๆ

วิธีป้องกันโรคซิฟิลิส

1.สวมถุงยางอนามัย เมื่อมีเพศสัมพันธ์
2.งดมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยง ไม่เปลี่ยนคู่นอน
3.สังเกตอาการ ตรวจคัดกรองเมื่อมีความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว ซิฟิลิสสามารถป้องกันได้ เพียงตรวจเลือด และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างถูกวิธี

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค, โรงพยาบาลศรีนครินทร์, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


67aaf4b9803924.99983315.png

ข่าวที่เกี่ยวข้อง