อนุทิน ไม่ได้กังวล ปม. ที่ดินสนามกอล์ฟทับที่ส.ป.ก.!

อนุทิน ไม่ได้กังวล ปม. ที่ดินสนามกอล์ฟทับที่ส.ป.ก.!

View icon 234
วันที่ 15 ก.พ. 2568 | 12.35 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
"พรพจน์"  ชี้ อธิบดีกรมที่ดิน  เป็นเพียงหน่วยงานปลายทาง ต้องไปถาม พม. กรณี ที่ดิน น.ค.3 มีระเบียบขั้นตอนชัดเจน 

วันนี้ (15 ก.พ.68) นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวภายหลังนายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมสนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะหารือกับอธิบดีกรมที่ดินในช่วงเย็นวานนี้ (14 ก.พ.68) ถึงกรณีปัญหาที่ดินสนามกอล์ฟ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ว่า ได้มีการชี้แจงว่าที่ดินนั้นได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ได้ซื้อมือแรก  เป็นการซื้อต่อชาวบ้านที่นำมาขายต่อ ซึ่งเป็นตามข้อมูลปกติ   พร้อมยืนยันว่า  นายอนุทิน ไม่ได้กังวลถึงกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด เป็นเพียงการพูดคุยว่าความเข้าใจของนายอนุทินนั้นถูกต้องหรือไม่เท่านั้น

อธิบดีกรมที่ดิน  ยังกล่าวว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นนิคมกว่า 1000 แปลง ที่ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม.  เป็นผู้จัดสรรที่ดินให้ประชาชนใช้ประโยชน์เป็นนิคมสร้างตนเองตั้งแต่ปีพ.ศ. 2515 ซึ่งตามขั้นตอนแล้ว เมื่อเข้าทำประโยชน์แล้ว 5 ปี สามารถเปลี่ยนเป็นที่ น.ค.3 ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดิน สามารถเปลี่ยนเป็นที่โฉนดได้ ตามระเบียบปกติ  และเมื่อชาวบ้านได้ครอบครองโฉนดตามหลักเกณฑ์ คือห้ามขาย 5 ปี  และเมื่อพ้นกำหนดก็สามารถทำการซื้อขายได้

เมื่อถามว่าที่ดินดังกล่าวทับซ้อนกับพื้นที่ส.ป.ก.หรือไม่ นายพรพจน์ กล่าวว่า โฉนดทั้งหมด ออกจากพม. ดังนั้น ส.ป.ก.ต้องไปถามพม.ไม่ใช่มาถามกรมที่ดิน  เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะว่าการออกโฉนดเป็นการออกจากหลักฐานของนิคมสร้างตนเอง ของพม. หรือกรมประชาสงเคราะห์เก่า ส่วนจะซ้ำซ้อนหรือไม่ ส.ป.ก.ต้องไม่เคลียร์กับทางพม.เอง  ไม่ใช่กรมที่ดิน

ส่วนกรณีที่ทางคณะทำงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเชิญกรมที่ดินลงพื้นที่ไปดูที่จริงด้วยนั้น  นายพรพจน์  กล่าวว่า ลงไปก็ไม่มีประโยชน์ มุมมองของตนต้องไปเอาพม.มาลงว่าทำไมถึงไปสร้างนิคมในพื้นที่นั้น  เพราะกรมที่ดินเป็นเพียงปลายทาง และมีระเบียบกฎหมายชัดเจนว่าต้องทำอะไรอย่างไร 

ขณะเดียวกันอธิบดีกรมที่ดิน ยังอธิบายว่า ที่ดินส.ป.ก. ไม่ว่าจะมีการประกาศเขตพื้นที่ที่ใด หากชาวบ้านครอบครองอยู่  มีหลักฐาน ว่าเข้าครองครองทำประโยชน์ เช่น สค.1 หรือไม่กระทั่งใบจอง ส.ป.ก.ก็ไม่สามารถไปห้ามการออกโฉนดได้  หากประชาชนอยู่ก่อนที่จะปราศเขตออกเป็นพ.ร.ฎ.แนบท้ายแผนที่ปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม แต่ในทางกลับกันพื้นที่ส.ป.ก.หากมีชาวบ้านจำนวนมากร้องขอให้ไปสำรวจออกโฉนดที่ดินก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งในลักษณะดังกล่าวนี้มีปัญหาอยู่ประมาณ 122 อำเภอที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข