สนธิกำลัง 5 หน่วย จับชาวกัมพูชาพร้อมไม้มะค่าโมง-อาวุธครบ หัวหน้าวิเชียรเผยเส้นทางสุดอันตราย ป่าลึก สูงชัน เสี่ยงจากทุ่นระเบิดและการเผชิญหน้ากับทหารกัมพูชา
วันนี้ (21 มี.ค.68) นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ ร่วมจับกุมชาวกัมพูชา ขณะลักลอบตัดไม้มะค่าโมงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา จ.ศรีสะเกษ ห่างจากชายแดนเพียง 1.5 กิโลเมตร ผลการจับกุมสามารถยึดทั้งไม้แปรรูป อาวุธปืน เลื่อยโซ่ยนต์ และอุปกรณ์ครบชุด
นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา เล่าถึงเหตุการณ์จับกุมว่า หลังจากได้รับข้อมูลจากเครือข่ายในพื้นที่และสังเกตร่องรอยผิดปกติ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.68 เวลา 15.30 น. เจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุม นายโจ (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี ชาวกัมพูชา ขณะกำลังตัดและแปรรูปไม้มะค่าโมง ในป่าพนมพรือ ระหว่างปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังสูงสุด เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุเป็นป่าลึก ภูมิประเทศสูงชัน มีความเสี่ยงจากทุ่นระเบิดและการเผชิญหน้ากับทหารกัมพูชา
ของกลางที่ยึดได้ประกอบด้วย ไม้มะค่าโมงแปรรูป ปริมาตร 0.028 ลูกบาศก์เมตร อาวุธปืนแก๊ปยาวแบบประจุปาก เลื่อยโซ่ยนต์ มีด ขวาน ไฟฉายคาดหัว และเปลนอน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาได้เตรียมการมาอย่างดี วางแผนพักค้างในป่าเพื่อตัดไม้ให้ได้ปริมาณมาก
ในที่เกิดเหตุอยู่ในป่าลึกตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งมีภูมิประเทศสูงชัน เป็นป่ารกทึบ อีกทั้งยังมีสนามทุ่นระเบิดและทหารกัมพูชาเคลื่อนไหว เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้เวลาในการนำตัวผู้กระทำผิดและของกลางออกมาดำเนินคดี โดยสามารถส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่พนักงานสอบสวน สภ.ขุนหาญ ได้ในวันที่ 20 มีนาคม 2568 เวลา 22.00 น.
การจับกุมครั้งนี้แม้จะได้ผู้กระทำผิดเพียงรายเดียว แต่ส่งผลสะเทือนถึงเครือข่าย เนื่องจากพื้นที่ชายแดนแห่งนี้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทั้งในด้านความมั่นคงและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จากสถิติพบว่ามีการลักลอบตัดไม้พะยูงและไม้มีค่าอื่นๆ ในพื้นที่นี้มากกว่า 50 คดีในรอบสองปี สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศรวมมูลค่าหลายล้านบาท
สำหรับปฏิบัติการลาดตระเวนครั้งนี้ครอบคลุมระยะทางกว่า 30 กิโลเมตรตามแนวชายแดน ตั้งแต่ช่องโดนโป (พลาญตากผ้า) ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ไปจนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าทะนำเจ็น เจ้าหน้าที่ได้วางกำลังอย่างรัดกุม มีการแบ่งชุดปฏิบัติการทั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว ชุดสนับสนุน และชุดสกัดกั้น ทำให้ภารกิจเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย
สำหรับการปฏิบัติการลาดตระเวนเชิงลึก ระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค.68 ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จาก 5 หน่วยงาน กำลังกว่า 56 นายได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 3 กองกำลังสุรนารี กองร้อยทหารพรานที่ 2609 และตำรวจตระเวนชายแดนที่ 224 โดยใช้ยุทธวิธีลาดตระเวนแบบ Smart Patrol ที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในพื้นที่ และได้มอบหมายกำลังพลที่มีประสบการณ์สูงในพื้นที่ป่าเขาและมีความคุ้นเคยกับภูมิประเทศแนวชายแดน เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพสูงสุด