เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูบุกทำเนียบ ค้านนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ หวั่นรับผลกระทบเต็ม ๆ ลามไปถึงชาวไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง ห่วงโซ่ผู้ผลิตอาหารสัตว์
วันนี้ (8 เม.ย.68) กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจากทั่วประเทศ พร้อมตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เดินทางมารวมตัวที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี คัดค้านแนวคิดการเปิดนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางความกังวลว่ารัฐบาลไทยอาจใช้การนำเข้าหมูเป็นเครื่องต่อรองทางการค้า หลังจากสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศที่เกินดุลการค้า โดยประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่อาจถูกเก็บภาษีสูงถึงร้อยละ 37 โดยมี นายสมคิด เชื้อคง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายโสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นตัวแทนภาครัฐออกมารับหนังสือ
กลุ่มเกษตรกรมองว่า การตัดสินใจเปิดนำเข้าหมูจากสหรัฐฯ จะไม่เพียงกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยตรง แต่ยังส่งผลเป็นลูกโซ่ไปถึงอุตสาหกรรมเกษตรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ปลูกพืชวัตถุดิบอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง โรงงานแปรรูป รวมถึงเครือข่ายตลาดค้าปลีกทั่วประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมสุกรของไทยมีมูลค่ารวมทั้งระบบอยู่ในระดับ 3-4 แสนล้านบาทต่อปี
เกษตรกรยังตั้งคำถามถึงความยุติธรรมในนโยบายดังกล่าว เนื่องจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ มีเป้าหมายหลักที่ภาคอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนรถยนต์ แต่กลับกลายเป็นว่าเกษตรกรเลี้ยงหมูต้องตกเป็นเป้าหมายในเวทีต่อรอง ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาดุลการค้าโดยตรง
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อมาตรฐานของเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นสารต้องห้ามในประเทศไทย เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะโรคหัวใจและมะเร็ง ซึ่งหากมีการนำเข้าจริง ไม่เพียงเกษตรกรจะได้รับผลกระทบ แต่ผู้บริโภคก็อาจต้องแบกรับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางอาหารไปด้วย
ด้านนายโสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นผู้แทนรับหนังสือ ยืนยันว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะรับเรื่องไว้พิจารณาอย่างรอบคอบ พร้อมส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายในประเด็นการค้าระหว่างประเทศต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงพาณิชย์