กรมทะเล ผ่าชันสูตรซากพะยูนเกยตื้นที่เกาะพระทอง จ.พังงา คาดเสียชีวิตเฉียบพลันจากภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว ติดอยู่ในที่แคบและดิ้นรนเพื่อให้หลุด ก่อนจะจมโคลนบริเวณน้ำตื้นเสียชีวิต
วันนี้ (9 เม.ย. 68) ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ได้ทำการผ่าชันสูตรซากพะยูนเกยตื้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2568 บริเวณเกาะพระทอง จ.พังงา จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่าเป็นพะยูน (Dugong dugon) เพศเมีย ช่วงโตเต็มวัย สภาพซากเน่า ความยาววัดแนบ 230 ซม. น้ำหนักประมาณ 170 กก. ความสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ระดับอ้วน (BCS =4/5)
จากการตรวจสอบลักษณะภายนอกพบรอยเขี้ยวจากพฤติกรรมฝูงบริเวณหลัง พบรอยขูดขีดเป็นเส้นเรียงถี่ที่ผิวหนังทั้งสองข้างของลำตัวจากส่วนของหูถึงส่วนบริเวณช่วงอกโดยมีรอยลึกบริเวณชั้นผิวหนัง และพบรอยช้ำของกล้ามเนื้อข้างลำตัวทั้งสองข้าง
จากการเปิดผ่าดูอวัยวะภายในพบว่า หัวใจ ตับ และไต มีสภาพเน่าสลายเร็ว ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะเนื้อเยื่อขาดออกซิเจน ร่วมกับการพบของเหลวคั่งในปอดและพบโคลนในแขนงปอดและหลอดลม บริเวณทางเดินอาหารพบหญ้าทะเลอัดแน่นตลอดทางเดินอาหาร มีพยาธิตัวกลมปริมาณ 485 ตัว ในกระเพาะอาหารและลำไส้ และไม่พบรอยโรคในอวัยวะส่วนอื่นที่บ่งชี้ถึงการป่วย
ทั้งนี้ จึงสันนิษฐานสาเหตุของการตายเบื้องต้นว่า มีการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันจากภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว ซึ่งคาดว่าเกิดจากการที่สัตว์ติดอยู่ในบริเวณที่แคบ หรือมีการพันรัดบริเวณข้างลำตัว ทำให้สัตว์เกิดอาการดิ้นรนเพื่อให้หลุดจากบริเวณดังกล่าวจนเกิดเป็นรอยขีดที่ผิวหนังและรอยช้ำที่กล้ามเนื้อ จึงทำให้จมน้ำในโคลนในบริเวณน้ำตื้นเสียชีวิต โดยทางเจ้าหน้าที่ ศวอบ. ได้เก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป